svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ

21 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นางรำร่วมรำบูชาพระธาตุพนมในงานประเพณีบุญเดือน 11 เทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟนครพนม 64 อลังการสวยงามอ่อนช้อย ท่ามกลางมาตรการป้องกันกาแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด

21 ตุลาคม 2564 บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ ประธานฝ่ายสงฆ์ และ นายชาธิป รุจนเสรี  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ได้ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา และการรำบูชาพระธาตุพนมซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของวันออกพรรษาทุกปีจากเหล่านางรำ 8 ชนเผ่ารวม 12 อำเภอ โดยปกติจะมีนางรำไม่น้อยกว่า 1,000 คนร่วมรำบูชา แต่ปีนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด จึงจำกัดจำนวนนางรำไม่เกิน 200 คน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม 

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ

โดยนายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.ฯ ประธานฯ พร้อมด้วย นายอำเภอธาตุพนม ข้าราชการทุกภาคส่วน ตลอดจนพ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ไปตั้งขบวนแห่บริเวณประตูโขงแล้วเดินเข้าสู่บริเวณ มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นผู้ว่าฯถวายเครื่องสักการบูชา กล่าวนำไหว้พระธาตุ ประกอบพิธีทางศาสนาพร้อมกล่าวเปิดงาน และเริ่มการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม โดยมีทั้งหมด 6 ชุดการแสดง คือ 1.ฟ้อนตำนานพระธาตุพนม เป็นนางรำจาก อ.ธาตุพนม  2.ฟ้อนศรีโคตรบูร เป็นนางรำจาก อ.ปลาปาก อ.ศรีสงคราม 3.รำผู้ไทย หรือภูไท จากนางรำชาว อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง 4.ฟ้อนหางนกยูง นางรำจาก อ.เมืองฯ อ.นาทม 5.รำไทญ้อ ซึ่งเป็นชนเผ่าญ้อ(ย้อ) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ใน อ.ท่าอุเทน นาหว้า และโพนสวรรค์ และ 6.รำหมากเบ็ง ของนางรำ อ.นาแก อ.วังยาง  

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ


 

ทั้งนี้ เมื่อการฟ้อนรำทั้ง 6 ชุดสิ้นสุดลง ก็มีการเซิ้งอีสานเพื่อเป็นการอนุรักษ์การรำเซิ้งอีสาน โดยเอานางรำทั้ง 6 ชุด 8 ชนเผ่ามารวมกัน และเมื่อสิ้นสุดรำเซิ้งอีสานแล้วเหล่านางรำทั้งหมดจะพากันก้มกราบองค์พระธาตุพนม อันเป็นภาพที่สวยงามและประทับใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นการจบอย่างยิ่งใหญ่อลังการที่สุด

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ


 

โดยการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถือกำเนิดมาตั้งแต่ก่อสร้างพระธาตุพนมในยุคแรก คือสมัยของพระมหากัสสปะเถระ และพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตบูร กาลต่อมาได้ปรากฏเป็นบันทึกหลักฐานไว้ว่า มีการรำบูชาพระธาตุพนมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำติดต่อกันทุกปี ซึ่งการรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น สืบเนื่องจากพระธาตุพนมเป็นมหาเจดีย์เก่าแก่อายุกว่า 2,500 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขงจนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงศรัทธาปสาทะในองค์พระธาตุพนม อันมีอยู่ในสายเลือดของคนเหล่านั้น จึงผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะต่างกัน ทั้งอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา สำหรับอามิสบูชานั้น นอกจากบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์ มโหรี ด้วยการฟ้อนรำในโอกาสอันควรด้วย โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศล เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ นายอุทัย นาคปรีชา ขณะดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครพนม (2527-2531)  ได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นในปี พ.ศ.2530 โดยให้ร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีหมายกำหนดงานในภาคเช้า ฟ้อนบูชาพระธาตุพนม บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ส่วนภาคค่ำก็จะไหลเรือไฟในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอ นำศิลปะการแสดงประจำชนเผ่ามาโชว์ กระทั่งถึงปี 2532 นายมังกร กองสุวรรณ เป็น ผวจ.นครพนม คนต่อมา ได้เลื่อนพิธีการรำบูชาพระธาตุพนม ไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือวันตักบาตรเทโวหลังวันออกพรรษา 1 วัน กระทั่งถึงปี 2542 ก็เปลี่ยนให้กลับมารำบูชาพระธาตุพนม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษากระทั่งทุกวันนี้

รำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ

โดย - พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล

 

logoline