svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ย้อนตำนาน "พญานาค" สู่ประเพณี "บั้งไฟพญานาค" ที่ชาวบ้านศรัทธา

20 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน "พญานาค" และประเพณี "บั้งไฟพญานาค" ซึ่งเป็นงานสำคัญของ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ที่ขอเดินหน้าจัดงานตามเดิม

ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับงานประเพณี “ออกพรรษา” และ “บั้งไฟพญานาค” ซึ่งปีนี้ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก แต่ทาง จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ยังคงเดินหน้าจัดงานตามเดิม ระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค.

 

โดยเฉพาะ “หนองคาย” ยืนยันว่า จะจัดงานใหญ่ใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง , อ.สังคม , อ.ศรีเชียงใหม่ , อ.โพนพิสัย , และ อ.รัตนวาปี แต่ยังคงให้งดกิจกรรมรื่นเริง ทั้งคอนเสิร์ต และกิจกรรมที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนพิธีบวงสรวงบูชาพญานาค การชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค และการตักบาตรเทโวโรหนะยังจัดเหมือนเดิม

ย้อนตำนาน "บั้งไฟพญานาค" ความศรัทธาข้ามกาลเวลา

เบื้องต้นจะอนุญาตเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนมาร่วมงานเท่านั้น

ซึ่งเกือบทุกปี การจัดงานประเพณีตามความเชื่อดังกล่าว มักจะมาพร้อมกับเสียง “ครหา” และเรื่องราว “ดราม่า” ต่างๆ ทั้งในมุมของผู้ที่สัมผัสความลี้ลับจาก “พญานาค” ได้ และมุมมองของ “นักวิชาการ” ที่แสดงความเห็นเชิงวิทยาศาสตร์ จนเกิดข้อถกเถียงในสังคมอยู่เป็นประจำ

 

ทั้งนี้เรื่องราว “พญานาค” เป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดย “พญานาค” หรือ “มโหราด” มีความหมายว่า “งูใหญ่” ลักษณะลำตัวยาวเหมือนงู แต่มีหงอนที่สวยงามตามยศศักดิ์

ย้อนตำนาน "บั้งไฟพญานาค" ความศรัทธาข้ามกาลเวลา

อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล หรือใต้พิภพ มีนิสัยดุร้าย สามารถแปลงกายตามใจปรารถนา และมีพิษร้ายแรงในตัวถึง 64 ชนิด กระทั่งสมัยพุทธกาล พญานาคตนหนึ่ง นั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า จนทำให้เกิดศรัทธาแรงกล้า จึงเลิกนิสัยดุร้าย ก่อนแปลงกายเป็นมนุษย์ และขอบวชเป็นพระภิกษุ

 

แต่จากนั้นไม่นาน ช่วงที่ “พญานาค” หลับใหล ได้กลายร่างคืนเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อพระรูปอื่นเห็น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์บอกให้ลาสิกขาไป ทำให้ “พญานาค” รู้สึกผิดหวัง และขอถวายคำเรียกขานว่า “นาค” ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ความศรัทธา และปวารณาตนเป็นพุทธมามกะสืบไป

ย้อนตำนาน "บั้งไฟพญานาค" ความศรัทธาข้ามกาลเวลา

ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาครบ 1 พรรษา เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา เหล่าเทวดามนุษย์ สัตว์ และนาค มีความปิติยินดี นำเครื่องบูชาถวายกันอย่างพร้อมเพรียง โดย “พญานาค” พ่นลูกไฟให้เห็นเป็นครั้งแรกในวันดังกล่าว จนเป็นประเพณีบั้งไฟพญานาคในปัจจุบัน

 

ส่วนความเชื่อของชาวหนองคาย และบึงกาฬ พบว่า ผู้เฒ่าผู้แก่เห็นปรากฎการณ์ “บั้งไฟพญานาค” หรือที่เรียกว่า “บั้งไฟผี” มาเป็นเวลาช้านาน โดยมีการบอกเล่าว่า ลูกไฟมีลักษณะเป็นดวงสีแดงอมชมพู  ขนาดเท่าลูกหมาก โผล่พุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขง

 

โดยลูกไฟมีลักษณะสว่างเรืองแสง ปราศจากควัน เสียงกลิ่น และไม่มีสะเก็ดตกลงบนพื้น แต่ดวงไฟจะดับวูบหายไปบนท้องฟ้า เมื่อขึ้นไปได้ระยะประมาณ 50-150 เมตร ทำให้ชาวบ้านในยุคสมัยก่อนมีความศรัทธาแรงกล้าว่า ภาพที่ปรากฎเบื้องหน้าเป็นของจริง

 

จนมาถึงยุคปัจจุบัน ยังไม่มีใครให้คำตอบชัดเจนได้ว่า “บั้งไฟพญานาค” เกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าหลายคน คงอยากไปสัมผัสประเพณีเหล่านี้ด้วยตัวเองสักครั้ง...

ย้อนตำนาน "บั้งไฟพญานาค" ความศรัทธาข้ามกาลเวลา

logoline