svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อุทกภัยจากพายุ 3 ลูก น้ำเริ่มลดระดับในทุกพื้นที่

20 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุทกภัยจากพายุ 3 ลูก น้ำเริ่มลดระดับในทุกพื้นที่ “บิ๊กป้อม” สั่งเข้มกรณีระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่ม ให้กระทบประชาชน น้อยที่สุด

20 ตุลาคม 2564 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนหลายแห่ง ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง

 

ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มอัตราระบายน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้ล้นความจุ และเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนในช่วงนี้ เช่น เขื่อนกระเสียว ปัจจุบันมีระดับน้ำ 298 ล้าน ลบ.ม. จากระดับเก็บกัก 299 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปรับอัตราการระบายเป็นประมาณวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีระดับน้ำ 988 ล้าน ลบ.ม. จากระดับเก็บกัก 960 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปรับอัตราการระบายเป็นประมาณวันละ 47 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น

 

อุทกภัยจากพายุ 3 ลูก น้ำเริ่มลดระดับในทุกพื้นที่

 

ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าเป็นระยะ พร้อมทั้งพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยจากการประเมินสถานการณ์ฝนและการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนในช่วงนี้ พบว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงหรือซ้ำเติมสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแม่น้ำปิง เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ในช่วงวันที่ 14–17 ต.ค. 64 ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และจ.สระบุรี รวมทั้งทำให้ระดับน้ำใน แม่น้ำปิง แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำป่าสัก คลองชัยนาท-ป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โดยคาดว่าในวันที่ 22 ต.ค. 64 จะมีน้ำไหลผ่านบริเวณ อ.เมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มสูงสุดเป็น 3,000-3,100 ลบ.ม./วินาที จากอัตราเดิม 2,484 ลบ.ม./วินาที ซึ่ง กอนช. ได้ประสานกรมชลประทาน ในการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมระดับน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตาม จะยังคงส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงไป มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20-40 ซม. ในช่วงวันที่ 23-30 ต.ค. 64 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2564

 

และในส่วนของแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำ 150 – 200 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากมีน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น เขื่อนกระเสียว และไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายเขื่อน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยาเพื่อลดปริมาณน้ำหลาก โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 30 –50 ซม. ในช่วงวันที่ 20 - 27 ต.ค. 64

 

อุทกภัยจากพายุ 3 ลูก น้ำเริ่มลดระดับในทุกพื้นที่

ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีข้อกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำที่จะส่งผลกระทบบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ได้ติดตามปริมาณน้ำไหลผ่าน อำเภอบางไทร เฉลี่ย 2,827 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับ 1.62 ม. จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครช่วงที่ต่ำสุด อยู่ประมาณ 1.38 ม. จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด ที่ระดับ 1.15 ม. จากระดับทะเลปานกลาง

 

นอกจากนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสำรวจสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุทั้ง 3 ลูก ในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลปัจจุบัน พบว่า พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” 23 ก.ย. – 17 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดอุทกภัย 33 จังหวัด 225 อำเภอ 1,201 ตำบล กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 9 จังหวัด 39 อำเภอ 274 ตำบล ได้แก่ จ.ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ระดับน้ำลดลง และมหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว

 

พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ช่วงวันที่ 8 – 17 ต.ค. 64 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 9 จังหวัด 20 อำเภอ 90 ตำบล กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 8 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 1 จังหวัด 5 อำเภอ 9 ตำบล ได้แก่ จ.จันทบุรี และตราด ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และ พายุโซนร้อน “คมปาซุ” 15 – 17 ต.ค. 64 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 5 จังหวัด 7 อำเภอ 22 ตำบล กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ 19 ตำบล ได้แก่ จ.ลพบุรี และปราจีนบุรี ขณะนี้ระดับน้ำลดลง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจอย่างเคร่งครัดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร่งด่วนต่อไป

 

อุทกภัยจากพายุ 3 ลูก น้ำเริ่มลดระดับในทุกพื้นที่

logoline