svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด “กฎเหล็ก” ม.34 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น

14 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิด “กฎเหล็ก” มาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ที่พรรคการเมืองอึดอัด และนายกฯขอไฟเขียวบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ช่วยปลดล็อก

14 ตุลาคม 2564 จากกรณี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับหัวพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อขอไฟเขียวปลดล็อกให้พรรคการเมืองช่วยท้องถิ่นหาเสียงเลือกตั้งได้ทุกระดับ ทำไมถึงต้องปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก “กฎเหล็ก” ที่ห้ามพรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเงียบเหงา ทั้ง อบจ. เทศบาล และล่าสุดคือ อบต. เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 ที่บัญญัติห้าม ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา, ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร

กฎเหล็กนี้ใช้มาตั้งแต่การเลือกตั้ง อบจ.ปลายปี 63 / การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อต้นปี 64  และล่าสุดในการเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.ด้วย โดยหากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย จะทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า ต้องเผชิญบรรยากาศเงียบเหงาแบบเดียวกันกับการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต.

 

“กฎเหล็ก” ที่ว่านี้ ยังครอบคลุมไปถึงการหาเสียงผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามเอาไว้ จะไม่สามารถไป กดไลค์-กดแชร์ หรือเชียร์ออกสื่อโซเชียลฯได้ ไม่ว่า เฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิตเตอร์ รวมถึงการจะไปช่วยผู้สมัครหาเสียงในช่วงวันหยุดราชการ หรือเวลานอกราชการ ก็ไม่สามารถกระทำได้ทั้งสิ้น

 

เหตุนี้เอง การเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ผ่านๆ มา หลายพรรคการเมืองจึงตัดสินใจ ไม่ส่งผู้สมัครท้องถิ่นในนามของพรรค แต่แอบช่วยแบบลับๆ แทน เพื่อความชัวร์ว่าจะไม่ถูกร้องเรียน

หรือบางพรรคยอมให้เปิดตัวในนามพรรค ขึ้นป้าย ขึ้นชื่อพรรคได้ แต่ก็ไม่กล้าส่ง ส.ส. หรือคนของพรรคที่เป็นข้าราชการการเมืองลงไปช่วยหาเสียง

 

สำหรับเจตนารมณ์ ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ก็คือการสร้างความ "เสมอภาค" ของผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ไม่ให้มีการใช้อิทธิพลการเมืองระดับประเทศมาสร้างความได้เปรียบให้กับผู้สมัครบางคน

 

โทษของการฝ่าฝืนมาตรานี้ มีทั้งโทษของบุคคลที่ฝ่าฝืน จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี  ส่วนบทลงโทษของพรรคการเมือง หากเข้าไปเกี่ยวข้อง มีโทษสูงสุดถึงยุบพรรคเลยทีเดียว 

logoline