svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Work From Home ดัน ‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ โตต่อเนื่อง

10 ตุลาคม 2564
502

พาณิชย์เผย ‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ ทิศทางดีทั้งส่งออกและในประเทศรุ่ง สาเหตุผู้บริโภคปลุกวิญญาณนักแต่งบ้าน สร้างบรรยากาศยุค Work From Home ให้น่าอยู่

10 ตุลาคม 2564 พาณิชย์เผยผลการวิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นประจำเดือนสิงหาคม 2564 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ มีตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจมาอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขจดทะเบียนตั้งใหม่จะไม่สูงแบบก้าวกระโดด แต่เป็นสัญญาณที่ดีของนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หน้าใหม่ที่กำลังมองหาจังหวะการลงทุน โอกาสนี้คือ ช่วงเวลาที่ดี ตลาดทั้งในและต่างประเทศยังกว้างอยู่ ในขณะที่มีจำนวนคู่แข่งต่ำทำให้สร้างตลาดของตนเองได้ง่ายขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสูง เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home อีกทั้ง มีช่องทางการขายที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสัญญาณทรงตัวทำให้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคด้านต่างๆ ลง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชนให้มีความผ่อนคลายและพร้อมเริ่มต้นปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ประชาชนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ประกอบกับภาคธุรกิจได้ใช้มาตรการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home : WFH) เพื่อลดการติดต่อพบปะกันและลดการติดเชื้อในวงกว้าง
สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานดังกล่าว ในแง่มุมของเศรษฐกิจกลับมีข้อมูลที่น่าสนใจ จากวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจประจำเดือนสิงหาคม 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่าง ‘ธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์’ กลับเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงของการใช้มาตรการ WFH ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 4,163 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงถึง 24,434.72 ล้านบาท และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวน 210 ราย เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2563 ของช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งในเดือนส.ค. 64 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งสิ้น 29 ราย เพิ่มขึ้น 4 รายจากเดือนก.ค. 64 คิดเป็น 16% แม้ว่าตัวเลขการเพิ่มขึ้นอาจจะดูไม่พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีทิศทางการเติบโตที่ต่อเนื่อง และยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หน้าใหม่เข้ามาลงแข่งขันกันได้ในจำนวนคู่แข่งที่ยังไม่เยอะมากนัก”


“นิติบุคคลที่จดทะเบียนในธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจํากัด มีจํานวน 3,246 ราย คิดเป็น 77.97% แบ่งมูลค่าทุนเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จํานวน 2,522 ราย ทุนจดทะเบียน 1.01-5.00 ล้านบาท จํานวน 1,323 ราย ทุนจดทะเบียน 5.01-100 ล้านบาท จํานวน 293 ราย และมากกว่า 100 ล้านบาท จํานวน 25 ราย จากจำนวนนี้คิดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จํานวน 3,943 ราย คิดเป็น 94.72% ธุรกิจขนาดกลาง (M) จํานวน 183 รายคิดเป็น 4.40% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จํานวน 37 ราย คิดเป็น 0.89%” 
 

“สำหรับปัจจัยที่มาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นน่าจับตามองคือ มุมของ ‘ภาคการส่งออก’ ที่ปริมาณการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากประเทศไทยยังคงมีความต้องการจากผู้บริโภคชาวต่างชาติ (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัด  กระทรวงพาณิชย์) และสร้างมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2564 โดยในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 37,886.08 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 39,430.39 ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 44,504.06 ล้านบาท และปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 29,448.51 ล้านบาท อย่างไรก็ดียังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจนี้คือ ‘การพัฒนาของธุรกิจ e-Commerce’ โดยสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านบนโลกการค้าออนไลน์เป็นหมวดหมู่ที่มาแรงและมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 4 รองจาก ธุรกิจห้างสรรพสินค้า เครื่องสำอางและอาหารเสริม และแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ลดการเดินทางออกจากบ้าน และยังสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นจากร้านค้าต่างๆ ได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกเพราะไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ต้องใช้มาตรการ WFH แต่ยังเป็นมาตรการที่ธุรกิจทั่วโลกนำไปใช้เพื่อให้พนักงานขององค์กรทำงานอยู่ที่บ้าน และอาจจะกลายเป็นแนวโน้มการทำงานรูปแบบใหม่อย่างถาวรก็เป็นได้”