svasdssvasds
เนชั่นทีวี

พระราชสำนัก

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : แสตมป์ดวงเล็กๆ หากทรงคุณค่ามหาศาล

09 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดกรุแสตมป์พระรูปรัชกาล ที่ 9 จากนักสะสมแสตมป์ดีกรีเหรียญทองใหญ่ “นพ.อุกฤษฏ์ อุเทนสุต” คนไทยคนเดียวที่ประกวดแสตมป์ชุดแรกแห่งรัชกาลที่ 9 นับเป็นชุดที่หาชมได้ยาก มีมูลค่าสูงหลายล้านบาท และหนึ่งดวงในชุดนี้ เป็น ”ปรู๊ฟทดลองสี” ปัจจุบันมีการค้นพบเพียงดวงเดียวในโลก

จากวันแรกที่มือน้อยๆ กำเงินไม่กี่สิบบาทซื้อแสตมป์ดวงเล็กๆ ไม่กี่ดวงเพื่อสะสม ครานั้นคิดเป็นเพียงงานอดิเรก ผ่านมา 36 ปี เขามีแสตมป์นับหมื่นดวง และในจำนวนนั้นมีมูลค่าต่อดวงสูงถึงหนึ่งล้านบาท

 

“นพ.อุกฤษฏ์ อุเทนสุต” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 (บางกอก อารีนา) และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ (ฝ่ายการแพทย์) เป็นนักสะสมตั้งแต่วัย 8 ขวบ ในช่วงแรกสะสมทั้งแสตมป์ลายดอกไม้ รูปสัตว์

 

แต่เมื่อเติบโตเปลี่ยนจากเด็กชาย มาใช้คำว่านายนำหน้าชื่อ ก็ตัดสินใจสะสมแสตมป์ “พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9” หรือในวงการนักสะสมเรียกกันว่า “แสตมป์พระรูป ร.9”  เพราะหากจะสื่อถึงความ “เป็นไทย” ณ เวลานั้น จะมีอะไรเป็นที่ประจักษ์ยืนยันได้ดีเท่ากับ "พระประมุขของประเทศไทย”

 

“เสน่ห์ของแสตมป์สิ่งแรกที่ผมประทับใจคือ ภาพพระมหากษัตริย์ ในตอนเด็กผมอาจมองไม่สวย สีสันไม่เยอะ แต่พอโตขึ้นได้ศึกษา ภาพบนดวงแสตมป์ พิมพ์แบบ Engraved Steel คือแกะสลัก ภาพนูนเหมือนธนบัตร แสตมป์ทั่วไปสีเรียบๆ รุ่นอื่นแม่พิมพ์หิน แต่รัชกาลที่ 9 ใช้แม่พิมพ์เหล็ก

 

ผมชอบที่พิมพ์นูน ดวงเล็กแต่ลายสวยเป็นความชอบส่วนตัว และบ่งบอกความเป็นไทย เพราะคือภาพพระมหากษัตริย์ แสตมป์ถูกพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ มีรายละเอียดความต่างกัน ส่องกล้องดูจะทราบว่าพิมพ์ไม่เหมือนกัน สีเดียวกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อย เราได้สนุกกับการศึกษาค้นหา”

 

"ปรู๊ฟแสตมป์ในหลวง ร.9” มีดวงเดียวในโลก

“ปรู๊ฟแสตมป์ในหลวง ร.9” ดวงเดียวในโลก

“แสตมป์ต้นแบบทดลองสี” สำหรับการจัดสร้างแสตมป์ชุดแรกแห่งรัชกาลที่ 9 “พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 (ชุดที่ 1)” ซึ่งปัจจุบันนับเป็นดวงแสตมป์ที่หาชมได้ยาก และมีมูลค่าสูง เพราะปรู๊ฟทดลองสีดังกล่าว มีการค้นพบเพียงดวงเดียวเท่านั้น ในปัจจุบัน

 

“ผมเป็นนักสะสม เป็นฝ่ายซื้อเสีย 90%  บางครั้งซื้อทั้งเซต เพื่อต้องการดวงเดียว ผมสะสมเฉพาะพระรูปรัชกาลที่ 9 เน้นแสตมป์ที่ใช้งานจริง แสตมป์ที่ระลึกต่างๆ ก็ซื้อสะสมไว้เพียง 1 ชุดเท่านั้น  

 

สะสมทั้งแบบผ่านการใช้งาน และยังไม่ได้งาน ซึ่งราคาในการหามาก็ต่างกัน อย่างมูลค่าแสตมป์ที่ยังไม่ใช้งานจะแพงกว่าที่ใช้แล้ว แสตมป์ใช้แล้วไม่มีราคาในมุมมองของนักสะสม แต่ถ้ามันถูกประทับตราในต้นทางที่มาจากที่กันดาร ต้นทางแปลกๆ ก็จะมีราคาแพงขึ้น

 

ผมยกตัวอย่าง แสตมป์ยุครัชกาลที่ 8 ถ้าประทับตราส่งมาจากเขตนอกที่เคยเป็นดินแดนของไทย เช่น รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี และ ปะลิส หากสภาพสมบูรณ์อยู่บนซองจดหมายก็จะมีราคาสูงถึงหลักล้านบาท แต่ถ้าแสตมป์ดวงนั้นถูกล้างออกตราประทับหายไม่มีอยู่บนซอง ก็จะเหลือมูลค่าไม่กี่บาท หรือถ้าตัดแสตมป์ออกมาเป็นดวงๆ ไม่อยู่บนซอง ไม่มีต้นทาง ไม่มีกระบวนการ ไม่มีมีเรื่องราว ดวงนั้นก็มีมูลค่าไม่มาก”

 

ต้นแบบแสตมป์ทองดวงแรกของประเทศไทย

 

ส่วนแสตมป์ดวงที่มีมูลค่าสูงที่สุด คือ “แสตมป์ต้นแบบทดลองสี” ชุดแรกในรัชกาล ที่ 9 ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2490

 

แสตมป์ชุดนี้ออกจำหน่ายก่อนที่พระองค์จะบรรลุราชนิติภาวะ พระบรมรูปฉลองพระองค์เครื่องแบบราชการพลเรือนเต็มยศ ทรงสายสะพาย และสร้อยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ไม่มีเครื่องหมายปรากฏบนคอเสือ

 

ในปัจจุบัน ยังเป็น "แสตมป์เพียงดวงเดียวในโลก" ที่ถูกค้นพบ คือ เป็นแสตมป์พิมพ์ 2 สี มูลค่า 20 บาท แต่เมื่อวางจำหน่ายจริง สีดังกล่าวจำหน่ายในราคา 2 บาท

 

แสตมป์ชุดนี้พิมพ์ด้วยวิธีการแกะแม่พิมพ์โลหะ (Steel Engraved) โดยบริษัทวอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์จำกัด (Waterlowand Sons, Ltd.)

 

ตัวอย่างแสตมป์ตลก กระดาษพับก่อนพิมพ์ ทำให้คลี่ออกมาเห็นเป็นเส้นสีขาว

 

คนไทยคนเดียวได้รางวัลเหรียญทองใหญ่

จากการประกวดแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ชุดสยาม

แสตมป์ชุดที่ 1 ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งนักสะสมเรียกแสตมป์ชุดนี้ว่า  "ชุดสยาม"  นพ. อุกฤษฏ์ มีสะสมครบทุกราคา  

 

โดยแสตมป์ดวงราคาสตางค์ (Decimal  Denomination) จะพิมพ์สีเดียว ได้แก่ ราคา 5, 10, 20 และ 50 สตางค์ จะมีขนาดเล็กกว่าแสตมป์ดวงราคาบาทเล็กน้อย ดวงราคาบาทจะพิมพ์สองสี ได้แก่ 1, 2, 3, 5, 10 และ 20 บาท

 

“ชุดสยาม” คือชุดที่ นพ.อุกฤษฏ์ จัดแสดงเพื่อการประกวด ใช้เวลานับ 10 ปี กว่าจะได้คว้ารางวัลเหรียญทองใหญ่ จาก Australia 2017 (FIAP) และ Bandung 2017 (FIP) มาครองได้สำเร็จ ผ่านอุปสรรคนานัปการ

 

“แสตมป์หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสกาล ต่างชาติมองว่าเป็นแสตมป์ใหม่ มีอายุเพียง 70 ปีเท่านั้น แต่ในที่สุดเขาก็ยอมรับเพราะเขาเองก็หากันไม่ได้

 

ผมคัดเลือกหัวข้อประกวดเอง ส่งประกวดตั้งแต่ระดับประเทศ เอเชีย จนถึงระโลก เพื่อพิสูจน์ให้ชาวต่างชาติยอมรับว่า แสตมป์เราอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับโลก  

 

แล้วผมมีแสตมป์ครบตามกฎเกณฑ์การประกวด ทั้ง 4 หมวด คือ 1.ปรู๊ฟ เป็นตัวทดสอบของโรงพิมพ์ 2.แสตมป์ คือที่สมบูรณ์นำวางจำหน่าย 3.ตลกผิดพลาด สีเลอะ สีเพี้ยน ภาพเคลื่อน เป็นต้น และ 4. หมวดบนซอง ที่ติดอยู่บนเอกสารที่ใช้จริง

 

ชุดสยาม มีแสตมป์ 10 ราคา ผมต้องนำมาจัดแสดง 8 เฟรม คือ 128 หน้าเอสี่ มีความยากลำบากตรงที่แสตมป์มีจำนวนน้อย ดังนั้นเรื่องราวที่นำเสนอต้องลึก ละเอียด ”

 

คัวอย่างแสตมป์ตลก พระพักตร์เคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ มีสูง-ต่ำ ซ้าย-ขวา

 

ล่าสุด นพ.อุกฤษฏ์ เพิ่งได้รับรางวัล Large Vermeil (เป็นหนึ่งลำดับรองมากจาก Gold และ Large Gold ) จากการส่งหนังสือ “แสตมป์พระรูปรัชกาลที่ 9” (King Bhumibol definitive issues) เข้าประกวดในงาน Phila’ Nippon 21 เป็นงานแสตมป์ระดับนานาชาติ (FIAP with the recognition of FIP) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

โดยหนังสือ “แสตมป์พระรูปรัชกาลที่ 9” ได้เข้าประกวดใน Class 11A Philatelic books and research paper ซึ่งมีหนังสือที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 40 เรื่อง

 

หนังสือ  แสตมป์พระรูปรัชกาลที่ 9

 

“หนังสือเล่มนี้ หนา 250 หน้า นำเสนอในเรื่องต้นแบบของแสตมป์พระรูปรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ชุดที่ 1-10 รวมถึงแสตมป์ตลกแปลก ๆ ในแต่ละชุด เท่าที่ผมรวบรวมมาได้ตลอด 30 กว่าปีครับ

 

รวมไปถึงรายละเอียดในเชิงลึกของแสตมป์บางดวง บางราคา ที่มาจากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลที่เคยมีคนบันทึกกับแสตมป์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการค้นพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นแสตมป์ ดวงราคา 1 บาท จะมีตำหนิเฉพาะที่อยู่บนดวงเดียวทุกแผ่นที่พิมพ์ในช่วงหลัง ๆ เพราะเกิดจากแม่พิมพ์ชำรุด”

 

ข้อมูลในหนังสือจึงเป็นเหมือนเกร็ดความรู้ พร้อมรูปถ่ายจากของจริงทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ หากใครสนใจสามารถติดตามได้ทางเพจ Thaistampcollectors ตัวหนังสือรวมกล่องใส่จะมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : แสตมป์ดวงเล็กๆ หากทรงคุณค่ามหาศาล

 

“นพ.อุกฤษฏ์ อุเทนสุต”

 

นอกจากนี้ ในปี 2565 นพ.อุกฤษฏ์ ได้เตรียม แสตมป์พระรูปรัชกาลที่ 9 ชุดที่ 2 ซึ่งวางจำหน่ายระหว่างปี 2494 - 2503 มีชื่อว่า “ชุดไทยแลนด์” เข้าประกวดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องติดตามกันว่า คราวนี้นักสะสมแสตมป์ไทยจะคว้ารางวัลอะไรกลับมา

 

ทั้งนี้แสตมป์ “พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9” ในรัชสมัยของพระองค์มีทั้งหมด 10 ชุด ดังนี้

  • ชุดที่ 1 พ.ศ. 2490-2492
  • ชุดที่ 2 พ.ศ. 2494-2503
  • ชุดที่ 3 พ.ศ. 2504-2511
  • ชุดที่ 4 พ.ศ. 2506-2514
  • ชุดที่ 5 พ.ศ. 2515-2524
  • ชุดที่ 6 พ.ศ. 2516-2525
  • ชุดที่ 7 พ.ศ. 2523-2530
  • ชุดที่ 8 พ.ศ. 2531-2538
  • ชุดที่ 9 พ.ศ. 2539-2553
  • ชุดที่ 10พ.ศ. 2553-2559

 

สุดท้ายนี้ นพ.อุกฤษฏ์ ฝากไว้ว่า “มูลค่าของสิ่งสะสม อาจไม่ได้ตีราคาเป็นเงินเสมอไปนะครับ สำหรับผมเองมีแนวคิดที่ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สะสมด้วยความชอบ และผมถือว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าที่จะตีเป็นตัวเงินครับ”

logoline