svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ชัยชนะหลังจบชีวิตของทหารข้ามเพศเกาหลีใต้

08 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ที่คนตายกลับกลายเป็นผู้ชนะคดีที่โด่งดังระดับประเทศ เมื่อศาลสั่งให้กองทัพยอมรับทหารข้ามเพศคนแรกของประเทศในฐานะผู้หญิง ให้และยกเลิกการปลดประจำการเธอ

คดีนี้เริ่มต้นจากตำรวจเกาหลีใต้ได้เข้าสืบสวนการเสียชีวิตของ "บยอน ฮี-ซู" วัย 23 ปี ที่ถูกปลดจากกองทัพหลังกลายเป็น ทหารคนแรกของประเทศที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ แม้เธอจะร่ำไห้อ้อนวอนขอรับใช้ชาติต่อไปในระหว่างการแถลงขาวที่กรุงโซล เมื่อเดือนมกราคม ปี 2563 แต่การสูญเสียอวัยวะเพศชายทำให้เธอถูก กระทรวงกลาโหมจัดเป็น "ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ" และ "ไม่เหมาะที่สมจะรับราชการทหาร" ก่อนที่จะพบศพของเธอที่บ้านในเมืองช็องจู หลังที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตแจ้งหน่วยฉุกเฉินเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ว่าเธอขาดการติดต่อตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมเกาหลีใต้ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศค่อนข้างสูง ยังไม่ยอมรับในสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือก "LGBT" เท่ากับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย

 

ภาพ : Reuters/สิบตรีบยอน ฮีซู

กองทัพเกาหลีใต้ห้ามบุคคลข้ามเพศเข้ารับการราชการทหาร ส่วน ฮีซู ซึ่งมียศสิบตรีได้สมัครเข้ารับใช้ชาติเมื่อปี 2560 แต่เดินทางมาผ่าตัดแปลงเพศที่ไทยเมื่อปี 2562 ด้วยเหตุผล "ไม่มีความสุขกับเพศสภาวะของตนเอง" เธอจึงกลายเป็นทหารคนแรกที่ผ่าตัดแปลงเพศขณะรับราชการ และเธออยากย้ายไปอยู่หน่วยเดียวกับทหารหญิง เธอเชื่อว่า การถูกปลดคือการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และตัดสินใจยื่นฟ้องศาลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 

 

ภาพ : Reuters/สิบตรีบยอน ฮีซู

เมื่่อวันที่ 7 ตุลาคม ศาลแขวงแทจ็อนได้ตัดสินว่า การแปลงเพศของ สิบตรีบยอน ฮีซู เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายแล้ว กองทัพจึงควรใช้มาตรฐานเดียวกับที่ใช้กับผู้หญิง ในการพิจารณาความเหมาะสมที่จะรับราชการ ซึ่งหมายความว่าให้ยอมรับ ฮีซู ในฐานะผู้หญิง และให้ยกเลิกการปลดประจำการเธอด้วย ด้านศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนทหารของเกาหลีใต้ ที่สนับสนุน ฮีซู มาตลอด ได้ยินดีต่อคำตัดสินของศาลแต่ก็บอกว่า ใช้เวลานานเกินไปกว่าจะบรรลุ "ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติ" และ "สามัญสำนึก" พร้อมกับเรียกร้องให้กองทัพแผนการยื่นอุทธรณ์ของกองทัพ ส่วนกองทัพแถลงว่าเคารพในคำตัดสินของศาล แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ 

 

ภาพ : Reuters

logoline