4 ตุลาคม 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการตรวจสอบคณะรัฐมนตรี สืบเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยในส่วนของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่มีความกังวลใจ
ทั้งนี้ เพราะจะเห็นได้ว่าฝ่ายค้านอภิปรายไม่ได้มีหลักฐานเรื่องทุจริตหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด และที่สำคัญในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายเฉลิมชัย ได้ชี้แจงชัดเจนในทุกประเด็นจนเป็นที่ยุติ ว่าในเรื่องการระบายยางครั้งที่ 3 มีกระบวนการที่ได้ดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการ ไม่มีเรื่องทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น รัฐไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด ที่สำคัญเป็นการปกป้องประโยชน์ของรัฐ เป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง
"ถ้าได้ติดตามข้อมูลของฝ่ายค้านที่ได้นำมาเสนอในการอภิปราย ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงและภาพถ่ายที่นำมาประกอบ เป็นคนละเรื่องกับข้อเท็จจริงในการระบายยางครั้งที่ 3 การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ยึดกระบวนการที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด" นายราเมศ กล่าว
อย่างไรก็ดี กระบวนการในการเปิดประมูล ไม่มีการทุจริต สอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีความเห็นให้การยางแห่งประเทศไทย เร่งระบายขายยางเพื่อลดภาระงบประมาณและนำเงินคืนสู่รัฐ
นอกจากนี้ ผลจากการระบายยาง เกษตรกรชาวสวนยางได้ประโยชน์มีงบประมาณจากเงินกองทุนเพิ่มขึ้น เพื่อไปดูแลเกษตรกร ปีละ 132 ล้านบาท เหตุเพราะเป็นการลดค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาและค่าประกันภัยยางพารา ที่สำคัญราคามีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มปริมาณการซื้อยางภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เหตุเพราะผู้ชนะการประมูลต้องซื้อยางเพิ่มขึ้น 104,763 ตัน ประโยชน์ต่อประเทศ คือ รัฐบาลได้เสริมสภาพคล่องจากการชำระคืนเงินต้นลดภาระรัฐบาลในการชดเชยอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายถึงปีละ 33 ล้านบาท และประหยัดงบประมาณในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล