วันที่ 30 กันยายน 2564 พ.อ.กฤติ พันธะสา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า สำหรับแผนการระบายน้ำออกจากตัวเมืองสุโขทัย จะดำเนินการพร้อมกัน 8 แผนงาน คือ 1.จะทำการหน่วงน้ำจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์โดยควบคุมให้ประตูน้ำด้านหน้า อยู่ที่ระดับ 63 เมตร หลังจากนั้นจะผันน้ำเข้าประตูระบายน้ำคลองหกบาท ปริมาณ 250 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะเดียวกันจะปิดประตูระบายน้ำคลองน้ำโจน เพื่อระบายน้ำในเขตอำเภอเมือง และ อำเภอศรีสำโรง ให้มีระดับต่ำลง และบังคับน้ำที่ขังอยู่ตามทุ่งต่างๆ ให้ไหลลงแม่น้ำยม
แผนงานที่ 2.จะใช้ระบบคลองเชื่อมฝั่งขวาของแม่น้ำยม ระบายน้ำจากทุ่งและคลองธรรมชาติลงสู่แม่น้ำยม โดยจะระบายน้ำ 30-50 ลบ.ม.ต่อวินาที แผนงานที่ 3.ใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ ออกจากตัวเมืองสุโขทัย ให้เร็วที่สุด ส่วนจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำเบื้องต้น กำหนดติดตั้งที่บ้านเตว็ดกลาง ต.ทับผึ้ง อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยติดตั้งจำนวน 3 เครื่อง ขณะสามารถระบายน้ำได้ 2,400 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมชุมชนบริเวณดังกล่าวลดลง เนื่องจากในชุมชนดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลัก และมีน้ำท่วมผิวจราจรทั้งสายความยาวประมาณ 10 กม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ การนำเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่องมาดำเนินการตรงจุดนี้ก่อน เพื่อให้น้ำบริเวณนี้ ลดลงโดยเร็วคาดว่าจะเห็นผลภายใน 1วัน
แผนงานที่ 4.ใช้ระบบคลองเชื่อมฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม เพื่อทำการผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า เพื่อลดระดับน้ำในเขตอำเภอเมือง แผนงานที่ 5.ใช้ประตูระบายน้ำยางซ้ายเพื่อควบคุมระดับน้ำที่สถานีY4 บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราขการจังหวัดสุโขทัย ไม่ให้สูงเกินจุดวิกฤติ แผนงานที่ 6.เร่งระบายน้ำจากแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงไปยังประตูระบายน้ำที่บริเวณกม.ที่ 22 เพื่อลงสู่แม่น้ำยมโดยตรง
แผนงานที่ 7.บริเวณประตูระบายน้ำยางซ้าย ปัจจุบันสามารถระบายน้ำลงแม่น้ำยมได้ 100ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำจากตัวเมืองเข้ามาเพิ่มเติม และระบายลงแม่น้ำยมได้อีกช่องทางหนึ่ง และแผนงานที่ 8 เร่งระบายน้ำจากประตูระบายน้ำวังสะตือ เพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ทั้ง 8 แผนงานจะดำเนินการไปพร้อมกัน โดยหวังว่าจะสามารถทำให้เมืองสุโขทัยกลับสู่ภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝนที่ตกลงมาทางอ่างเก็บน้ำแม่มอก ที่ไหลมาสมทบกับลำน้ำแม่รำพันที่ อ.บ้านด่านลานหอย ก่อนไหลเข้าสู่เมืองสุโขทัย หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับเครื่องสูบน้ำที่ทางสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะนำมาช่วยติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากเมือง กำลังอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อกำหนดจุดติดตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชุมชน
นอกจากนี้เมื่อเวลา 20.30 น.ของวันที่ 29 กันยายน 2564 นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 พิษณุโลก ได้นำเครื่องสูบน้ำท่วมขังอัตรา 50,000 ลิตรต่อนาที เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตำบลทับผึ้ง หมู่ 4 บ้านเตว็ดกลาง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,700 ไร่ โดยบูรณาการเครื่องสูบน้ำ รวม 5 เครื่อง สูบน้ำได้ปริมาณ 115 ลบ.ม.ต่อนาทีคิดเป็นชั่วโมงได้ปริมาณน้ำ 6,900 ลบ.ม.ต่อชม.ในหนึ่งวัน เท่ากับ 165,600 ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำมาจากหมู่ 3,7 ต.วังใหญ่ ซึ่งรับน้ำที่ประมาณ 4,000 ไร่
การสูบครั้งนี้ได้ผันน้ำผ่านทางคลองทางไม้ ลงสู่คลองตาแฟงเป็นการตัดยอดน้ำลงสู่ทุ่งทะเลหลวง และผันน้ำไปลงแม่น้ำยมในระยะ 800 เมตร จะสามารถผันน้ำในหนึ่งวันลดลงประมาณได้ 165,600 ลบ.ม.ต่อวัน หรือลดลง 7.5 ซม.ในทุ่ง 1,700 ไร่ (ประมาณ 3 นิ้ว)ซึ่งในวันนี้เส้นทางเลี่ยงเมืองที่ผ่านไปจังหวัดตาก ระยะทางประมาณ 500 เมตร ณ บริเวณจุดนี้ที่มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 50 ซม ก็จะลดลงสู่ภาวะปกติทำให้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ
โดย..นิศานาถ กังวาลวงศ์