svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดหลักเกณฑ์ตำรวจ “ล่าโจรโลกไซเบอร์”

28 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การฉ้อโกงผ่านโลกออนไลน์ที่เป็นข่าวโด่งดังหลายคดี ทำให้อาจสงสัยว่า ทำไมมีแค่คดีใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ที่จับกุมตัวคนร้ายได้ แต่กับคดีการฉ้อโกง-หลอกลวง หรือแม้แต่หมิ่นประมาททางออนไลน์ คดีความกลับไม่คืบหน้า เรามาหาคำตอบจากหลักเกณฑ์การล่าโจรไซเบอร์กัน

28 กันยายน 2564 พันตำรวจเอก ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ขณะนี้ ทาง ปอท.ได้รับมอบหมายหน้างานหลักเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่ถ้าเป็นคดีฉ้อโกง หรืออาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การแฮกข้อมูล หรือการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ ก็จะเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท.ซึ่งมีคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา  

 

ส่วนคดีหมิ่นประมาททางออนไลน์ ก็จะเป็นหน้าที่ของโรงพักท้องที่ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นหน้าที่ของ ปอท. ซึ่งทางสถานีตำรวจท้องที่อาจจะขอความร่วมมือในการให้ ปอท.เข้าไปช่วยเหลือ หากกรณีที่คดีมีความซับซ้อน แต่จริงๆแล้ว โรงพักท้องที่ก็สามารถสืบสวนคดีเหล่านี้ได้เอง

 

หากย้อนไปดูคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 287/2564 จะพบว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ระบุว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ จึงได้ปรับวิธีการรับแจ้งความให้ทันยุคสมัย เพื่ออํานวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านระบบออนไลน์ และเพื่อแก้ปัญหา ความสับสนในการร้องทุกข์

โดยเรื่องการรับคําร้องทุกข์และการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมี 6 หัวข้อหลัก คือ 

1.เป็นคดีที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวน

2.มีมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

3.มีมูลค่าความเสียหาย 30 ล้านบาทขึ้นไป หรือผู้เสียหายตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

4.เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ

5.ส่งผลร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

6.ส่งผลร้ายแรงต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือสาธารณูปโภค

7.ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การก่อการร้าย

8.มีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ

 

ทางผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ได้โดยตรง หากเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 1-5 หรือ 8 ทาง บช.สอท. จะเป็นผู้รับผิดชอบ หากเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 6-8 ทาง บช.ก.จะเป็นผู้รับผิดชอบ

"อาชญากรรมออนไลน์...ทำไมคดีไม่คืบ"

 

หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่มีการระบุเอาไว้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การจะเข้าไปแจ้งความจะต้องเป็นคดีใหญ่ที่มีความเสียหายหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้นหรือไม่ หากคดีเล็กๆจะทำยังไง หรือแม้แต่คดีที่ผู้เสียหายรวมตัวกันไม่ได้จำนวนที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ เช่น ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง แบบนี้ก็เท่ากับว่า หมดช่องทางเอาผิด หรือต้องไปพึ่งตำรวจโรงพักหรืออย่างไร

 

แต่จากข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับการร้องเรียน พบว่า มีผู้เสียหายหลายคนที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ แต่พอไปแจ้งความกับตำรวจท้องที่ คดีกลับไม่มีความคืบหน้า ผู้เสียหายบางให้ข้อมูลว่า ตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันไว้ แต่ไม่ได้ติดตามคดีหรือตามเรื่องอะไรให้เลย (การลงบันทึกประจำจะเป็นการทำบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐาน แตกต่างจากการรับเป็นคดีความ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องมีการติดตามคดีและจะต้องมีการแจ้งความคืบหน้าให้กับผู้บังคับบัญชาตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้) นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คดีที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกง หรือถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้า ไม่มีความคืบหน้าและไม่ได้รับการติดตามคดีจากตำรวจ 

logoline