svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

28 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 28 ก.ย. เป็นวันสำคัญของชาติ เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย ธงชาติถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติและในปีนี้เวียนบรรจบครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทยและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

“ธงชาติและเพลงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยเราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย”

 

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

วันที่ 28 ก.ย.2566 เป็นวันที่ครบรอบ 106 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทยหากย้อนกลับไปถึงเรื่องราวธงชาติไทย เริ่มจาก ธงวงจักร สมัยรัชกาลที่ ๑ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ธ ผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงกำหนดให้นำ “จักร” อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วางไว้กลางผ้าพื้นสีแดง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญในนามธงชาติสยาม

 

เหตุที่ต้องเป็น “วงจักร” เนื่องจากมีความเชื่อกันว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามทุกพระองค์ได้เสด็จอวตารมาจากองค์พระนารายณ์ ซึ่งเป็นสมมุติเทพ  โดยที่พระกรขององค์พระนารายณ์มีของสำคัญสี่อย่าง ได้แก่ จักร สังข์ คทา และ ธรณี  โดยธงชาติสยามแบบแรกที่พระองค์ได้พระราชทานตามการบันทึกที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธงว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม  รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ และ ๑๑๘ นั้น กำหนดให้ใช้ชัก ประดับ บนเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างจากเรือราษฎรชาวสยามทั่วไปที่ยังคงใช้ธงสีแดง ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงธงอาณัติสัญญาณประจำเรือราษฎรของชาวสยาม

 

 

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

 ธงช้างเผือกในวงจักร สมัยรัชกาลที่ ๒

ขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้นบนแผ่นดินสยาม พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอกมาถึงสามช้างได้แก่ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งนับถือในประเพณีไทยว่าเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง พระองค์จึงโปรดให้ทำรูปช้างสีขาววางไว้กลางวงจักรสีขาวบนผ้าพื้นสีแดง และนับเป็นการใช้รูปช้างเผือกบนธงชาติสยามครั้งแรก ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยงเป็นสัญลักษณ์อาณัติสัญญาณประจำเรือเช่นเดิม 

 

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

 

ธงช้างเผือกปล่อย สมัยรัชกาลที่ ๓

ขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  สยามได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ธงชาติสยามครั้งใหญ่  ซึ่งล่าสุดทางพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย โดยคุณพฤฒิพล ประชุมผล และคุณจันทกาญจน์ คล้อยสาย ได้มีการค้นพบหลักฐานสำคัญจากบันทึกของนักเดินเรือทั่วโลกว่ามีการใช้รูปช้างเผือกที่ปราศจากวงจักรบนผ้าพื้นแดงเป็นธงชาติสยามสำหรับใช้ชัก ประดับ บนเรือของสามัญชนโดยทั่วไปได้แล้ว ซึ่งหลักฐานสำคัญที่แสดงการใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามที่เก่าแก่ที่สุดและได้รับการยอมรับในสมาคมธงนานาชาติคืองานพิมพ์ของ  Andriveau - Goujon : Pavillons Et Cocardes Des PrincipalesPuissances Du Globe ปี ตรงกับปี พ.ศ.  ๒๓๘๐

 

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

 

กระทั่งขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ตรงกับพระพุทธศักราช ๒๔๕๙  พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงการที่ประชาชนโดยทั่วไปจัดทำหรือวาดรูปช้างเผือกบนธงชาติสยามที่มีความหลากหลาย ไม่สง่างาม ไม่สมเกียรติในฐานะธงชาติสยาม ดังที่ปรากฎเป็นหลักฐานในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙ ดังนี้ “แลทั้งรูปช้างซึ่งใช้กันอยู่ ก็ไม่งดงาม จนเกือบไม่ทราบว่าช้างหรืออะไร เปนเพราะวาดรูปช้างนั้นเปนการลำบากนั่นเอง ควรที่จะแกไข” จึงทำให้มีการยกเลิกการใช้ธงช้างเผือกปล่อยหรือธงช้างเผือกเปล่า และเปลี่ยนมาใช้ธงแดงขาวห้าริ้ว หรือชื่ออย่างเป็นทางการในพระราชบัญญัติธงว่า “ธงค้าขาย” เป็นธงชาติสยามสำหรับให้ประชาชนใช้ชัก ประดับรับเสด็จแทนธงช้างเผือก  พร้อมกับประกาศให้หน่วยงานราชการต่างๆ มีธงชาติสยามเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งธงชาติทั้งสองแบบถูกประกาศใช้ในฐานะธงชาติสยามวันเดียวกันคือวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน

   ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย   

ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สมัยรัชกาลที่ ๖   ธงแดงขาวหน้าริ้ว สมัยรัชกาลที่ ๖

จวบจนกระทั่งสยามได้ประกาศเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงได้มีพระราชประสงค์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติสยามใหม่ โดยเปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางของธงแดงขาวห้าริ้ว หรือธงค้าขาย ให้เป็นสีน้ำเงินแก่ เพื่อให้เป็นสามสีดั่งเช่นธงชาติสำคัญของประเทศมหาอำนาจที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสยามในนามว่าสัมพันธมิตร ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานและมีใจความดังนี้

“ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง ให้เปนสามสีเพื่อให้เป็นเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง”

 

โดยพระองค์ได้พระราชทานนามธงชาติสยามแบบใหม่ที่ประกอบด้วยสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่นี้ว่า “ไตรรงค์” และได้มีการประกาศใช้เป็นธงชาติครั้งแรกในพระราชบัญญัติประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติธงครั้งที่ ๒ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐ ในมาตราที่ ๓ 

 

ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่าธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆ ของสาธรณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป

   ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

 ธงไตรรงค์ สมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงปัจจุบัน

ส่วนความหมายของแถบสีบนธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ที่เราท่องจำกันตั้งแต่เด็กๆ ว่า แดงคือชาติ ขาวคือศาสนา น้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ มาจากการให้คำนิยามความหมายจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑  ดังนี้ 

ครบรอบ 106 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ ๒๘ กันยายน ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นการน้อมรำลึกถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ที่พระองค์ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

 

ขอขอบคุณข้อมูลรายละเอียดจาก อ.พฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการบริหาร พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย 

logoline