svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

มองคริปโตเคอร์เรนซีในวงการกีฬา ผ่านสายตา ทอม เบรดี

27 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อสุดยอดควอเตอร์แบ็กตลอดกาลอย่าง ทอม เบรดี เชื่อมั่นในสกุลเงินดิจิทัล อาจแปลว่าถึงเวลาที่โลกกีฬาจะเปิดรับคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้นหรือยัง?

Highlights

  • จากที่ถูกปรามาสว่าเป็นเงินที่จับต้องไม่ได้ หรือช่องทางการฟอกเงิน คริปโตเคอร์เรนซี เริ่มมีบทบาทกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่กีฬา
  • รัสเซลล์ โอคุง ออฟเฟนซีฟไลน์แมนของ แคโรไลนา แพนเธอร์ส คือนักกีฬารายแรก ๆ ที่ทวีตขอรับค่าแรงส่วนหนึ่งเป็นบิทคอยน์ แทนเงินเฟียต (เงินที่ใช้กันในปัจจุบัน) และพิสูจน์ให้เห็นจากมูลค่าที่ถีบตัวสูงขึ้นรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน
  • ทอม เบรดี ตำนานควอเตอร์แบ็กของ NFL เป็นอีกคนที่ประกาศตัวว่ากำลังศึกษาเทคโนโลยีนี้ และเชื่อว่าโลกใบนี้จะไม่หมุนกลับไปยังจุดเดิมอีก

--------------------

          หลายปีมานี้ วงการกีฬาน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่หันมาให้ความสนใจกับสกุลเงินดิจิทัลเป็นพิเศษ

 

          จากจุดเริ่มต้นด้วยการเปิดรับบรรดาเอ็กซ์เชนจ์เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ จนปัจจุบัน ก็เริ่มมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของสโมสร ขณะที่นักกีฬาชั้นนำหลายราย ก็เริ่มเปิดรับเรื่องเหล่านี้ รวมถึงเข้าไปคลุกคลีด้วยตัวเองแล้ว

 

          ในจำนวนนี้ ชื่อของ ทอม เบรดี สุดยอดควอเตอร์แบ็กตลอดกาลของวงการ NFL น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ให้เข้าถึงคนหมู่มากได้เร็วขึ้น หลังประกาศว่าสนใจจะรับค่าเหนื่อยบางส่วนจาก แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ต้นสังกัดปัจจุบัน เป็นสกุลเงินดิจิทัล

 

เมื่อเงินดิจิทัลบรรจบกับกีฬา

(ดาบิด บาร์ราน อดีตเด็กฝึกหัด เรอัล มาดริด นักเตะคนแรกที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวเป็น BTC - ภาพจาก CRIPTAN)

          อย่างที่เกริ่นไว้ คริปโตเคอร์เรนซีกับกีฬาไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการนี้พยายามสร้างการรับรู้ในวงกว้าง

 

          BitPay ผู้ให้บริการชำระเงินดิจิทัล เคยเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ให้อีเวนท์ต่าง ๆ ของสถานีกีฬา ESPN รวมถึงการแข่งอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โบว์ล มาก่อน

 

          อาร์เซนอล ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ก็เป็นรายแรก ๆ ที่เซ็นสัญญาสปอนเซอร์กับบริษัทที่ทำธุรกิจในวงการนี้ คือ CashBet เมื่อปี 2018 ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านบล็อกเชนอย่างเป็นทางการ

 

          หรือในวงการ UFC ก็ได้ Litecoin เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ และสนับสนุนไฟท์ในรุ่นไลท์เฮฟวีเวท ระหว่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน กับ จอน โจนส์ ด้วย

 

          นอกจากการเป็นสปอนเซอร์ บิทคอยน์ ก็เคยถูกนำมาใช้เพื่อซื้อขายผู้เล่นตั้งแต่ปี 2018

 

          เมื่อ ฮารูนุสตาสปอร์ ในตุรกี เซ็นสัญญากับ โอมาร์ ฟารุค คิโรกลู ด้วยการจ่ายเงิน 2,500 ลีรา (ประมาณ 21,000 บาท) พร้อมบิทคอยน์ อีก 0.0524 BTC (17,600 บาท ณ เวลานั้น หรือ 73,647 บาท สำหรับมูลค่าในปัจจุบัน)

 

          ส่วนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดาบิด บาร์ราล ศูนย์หน้าเลบันเต ก็เป็นนักเตะคนแรกที่ถูกซื้อขายด้วยเงินบิทคอยน์ ในดีลที่ย้ายไป อินเตอร์นาซิออนาล เด มาดริด ในระดับเซกุนดา เบ ของสเปน ผ่านการสนับสนุนโดย Criptan เอ็กซ์เชนจ์เงินดิจิทัล ที่เป็นสปอนเซอร์ของสโมสรนั่นเอง

 

          ยังมีเรื่องของแฟนโทเคน ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น สโมสรอาจระดมทุนด้วยวิธีนี้ โดยผู้ที่ถือโทเคนเหล่านี้ไว้ ก็จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงสำหรับนโยบายต่าง ๆ ในการบริหารสโมสรได้

 

รัสเซลล์ โอคุง ผู้มาก่อนกาล

(แม้จะไม่มีสังกัด แต่ รัสเซลล์ โอคุง คงไม่มีปัญหา ตราบใดที่ราคาบิทคอยน์สูงกว่าเมื่อปี 2020 - ภาพจาก NFL)

          ด้วยความที่มูลค่าคริปโตเคอร์เรนซีในตลาดปัจจุบัน มีความผันผวนสูง การจะนำมาใช้จ่ายจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก

 

          แต่สำหรับนักกีฬาอาชีพที่ฐานะค่อนข้างมั่นคง หลายคนจึงมองเป็นอีกรูปแบบของการลงทุน หากเลือกรับค่าแรงบางส่วน หรือเงินโบนัสในรูปของคริปโตเคอร์เรนซี ที่อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

          ปลายปี 2020 รัสเซลล์ โอคุง ออฟเฟนซีฟไลน์แมนของ แคโรไลนา แพนเธอร์ส (ปัจจุบันเป็นฟรีเอเจนต์) ขอรับค่าจ้าง 13 ล้านดอลลาร์ (434 ล้านบาท) เป็นสกุลเงินปกติครึ่งหนึ่งที่ 6.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีกครึ่ง ขอเป็นบิทคอยน์ ตามมูลค่าตลาด ณ เวลานั้น

          แม้ทาง NFL จะชี้แจงในภายหลังว่า โอคุง ยังได้รับเงินค่าจ้างเป็นสกุลเงินดอลลาร์ตามปกติ แต่เลือกที่จะนำครึ่งหนึ่งของเงินก้อนนั้นไปเปลี่ยนเป็นบิทคอยน์ด้วยตัวเอง (ราคาในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คือประมาณ 28,000 ดอลลาร์ หรือ 930,000 บาท)

 

          เท่ากับว่า ณ ปัจจุบัน มูลค่าของเงิน 6.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 217 ล้านบาท ที่ โอคุง ลงทุนไปกับ BTC นั้น เพิ่มขึ้นมากว่า 50% เป็น 327 ล้านบาท (คิดจากมูลค่า 1 BTC ในปัจจุบัน เท่ากับ 42,038 ดอลลาร์ หรือ 1.4 ล้านบาท)

 

          แนวคิดของ โอคุง ที่เชื่อในเงินดิจิทัลมากกว่าเงินเฟียต (สกุลเงินทั่วไป) ยังเริ่มขยายไปถึงส่วนอื่น ๆ ของวงการกีฬาด้วย เช่น 

 

          อาแซด อัลค์มาร์ ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลแรกในเนเธอร์แลนด์ ที่จะนับรวมสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ไว้ในงบดุลสโมสร มีแผนจะจ่ายค่าเหนื่อยบางส่วนให้ผู้เล่นด้วยบิทคอยน์

 

          หรือ เซาธ์แฮมป์ตัน ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ก็ระบุในสัญญาว่ามีออปชั่นที่สโมสรสามารถจ่ายโบนัสตามผลงานในสนามในรูปของบิทคอยน์ได้

 

เมื่อ GOAT ลงสังเวียนคริปโต
(ประสบการณ์ติดดอยของ ทอม เบรดี ในโลกคริปโต – ภาพจาก Twitter)

          ในสนาม เบรดี คือตำนานอันดับหนึ่งของ NFL แต่ในโลกของสกุลเงินดิจิทัล เจ้าตัวยอมรับว่าตัวเองยังเป็นมือใหม่มาก แต่ก็มีความสนใจในเรื่องนี้แบบเต็มที่

 

          เบรดี เริ่มสนใจเงินดิจิทัลผ่านการพูดคุยกับหนึ่งในสตาฟฟ์โค้ชของ บัคคาเนียร์ส ก่อนเข้าสู่วงการนี้ในฐานะนักลงทุน รวมถึงไปร่วมในสัมมนาออนไลน์ Consensus 2021 ของ CoinDesk ผ่านการชักชวนของ แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX กระดานเทรดรายใหญ่ของสหรัฐฯ

 

          ความจริงจังของ เบรดี ไปไกลถึงขนาดเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในทวิตเตอร์ เป็นรูปเลเซอร์อาย (หมายถึงราคาเหรียญที่กำลังพุ่งสูงขึ้น) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

 

          แต่ เบรดี ก็มีประสบการณ์ติดดอยไปเรียบร้อย เมื่อเข้าซื้อผิดเวลา ในช่วงที่ BTC ขึ้นไปถึง 56,245 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) ก่อนตกลงมาที่ 32,734 ดอลลาร์ (ประมาณ 1 ล้านบาท) เมื่อเดือนมิถุนายน

 

          และทวีตขอคำแนะนำจากคนในวงการแบบติดตลก ว่าตาเลเซอร์ของตัวเองไม่ทำงาน

 

          แน่นอนว่าระดับ เบรดี คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเรื่องนี้ การโพสต์ถึงเงินดิจิทัลบ่อยครั้งขึ้น คือการปูทางไปสู่บทบาทใหม่ที่เขากับ จีเซล บุนด์เชน ภรรยา ตอบรับการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ FTX vอง แบงค์แมน-ฟรีด หลังจากทวีตนั้นเพียงไม่กี่วัน

 

          นอกจากเงินดิจิทัลแล้ว เบรดี ยังตามรอยเพื่อนซี้ ร็อบ กรอนคาวสกี ไปสู่ธุรกิจ NFT

 

          ด้วยการตั้งแพลตฟอร์มของตนเองในชื่อ Autograph โดยมีแผนที่จะดึงคนดังจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง กีฬา แฟชั่น บันเทิง มาร่วมสร้างผลงานดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากซูเปอร์สตาร์ อย่าง ไทเกอร์ วูดส์, โทนี ฮอว์ค รวมถึง นาโอมิ โอซากะ ด้วย

 

กล้าแตกต่าง ถึงสำเร็จ
(เบรดี ไปร่วมสัมมนาออนไลน์ เรื่องเงินดิจิทัล ร่วมกับ แซม แบงค์แมน-ฟรีด ก่อนตกลงเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้ FTX - ภาพจาก Coindesk)           แม้สิ่งที่ เบรดี ทำ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังถือว่าแตกต่างจากกระแสหลักที่ผู้คนทั่วไปเชื่อกันอยู่มาก

 

          คำตอบของเจ้าตัวคือเป็นเรื่องปกติที่จะถูกวิจารณ์ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ ย่อมทำให้ตลาดเดิมเกิดความปั่นป่วน และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากตลาดเดิม ก็จะต้องพยายามปกป้องผลประดยชน์ของตัวเองไว้

 

          และประสบการณ์จากการเป็นนักกีฬา ก็สอนให้เจ้าตัวมองเห็นว่าระบบที่ชัดเจน จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ แม้ระบบนั้นจะเกิดจากการคิดนอกกรอบ ซึ่งก็ตรงกับหลักการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมานั่นเอง

 

          เบรดี กล่าวถึงความสนใจที่จะเปลี่ยนจากการรับเงินเฟียต มาเป็นเงินดิจิทัล ระหว่างพูดคุยกับ จิม เกรย์ ในพอดแคสต์ Go Sirius XM ว่าไม่มีปัญหา ถ้าต้นสังกัดยอมจ่ายค่าเหนื่อยเขาในรูปคริปโต ซึ่งเป็นได้ทั้ง บิทคอยน์ อีเธอเรียม และ โซลานา

 

          "ยุคดิจิทัลมาถึงแล้ว ผมไม่คิดว่าเราจะย้อนหลังกลับไปอีก เทคโนโลยีและข้อมูลเหล่านี้ใช้ตรวจสอบและติดตามสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และผมก็มั่นใจว่าซักวันจะถึงยุคที่ผู้เล่นทุกคนได้รับค่าแรงเป็นเงินดิจิทัลแทน"

 

ชาตรี ตันสถาวีรัฐ

--------------------

source:

logoline