27 กันยายน 2564 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี ประกาศว่า พื้นที่เสี่ยงที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ บริเวณริมแม่น้ําเจ้าพระยา บริษัทห้างร้าน ที่ประกอบกิจการ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น ร่วมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านกรมชลประทานแจ้งว่า ที่ผ่านมามีฝนตกสะสม ต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 26 – 30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ทําให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น
โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่าน สถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 2,400 – 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทาน ได้ใช้การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่ง แต่ยังคงจําเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระหว่าง 2,000 – 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มการระบายน้ำเป็นลําดับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 26 – 29 กันยายน 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี น้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหลายเขื่อนเร่งระบายน้ำ รับน้ำเหนือและเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนเต็มที่ พร้อมกับมีฝนตกลงมาอย่างหนักหลายวัน ทำให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นในเขต อ.สามโคก โดยมีหลายครัวเรือน บ้านเริ่มจมน้ำ ข้าวของได้รับความเสียหาย ซึ่งบางรายเก็บข้าวของไม่ทัน ระดับน้ำบริเวณใต้สะพานข้ามแม่เจ้าพระยาถนนวงแหวนตะวันตกหมายเลข 9 หน้าวัดกร่าง ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานีมีน้ำเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใน ต.ท้ายเกาะ ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน กว่า 50 เซนติเมตร และ 1 เมตร ในพื้นที่ลุ่ม
ข่าวโดย อนันต์ วิจิตรประชา