จากรายงานของ รพ.ธรรมศาสตร์ ที่ออกมาระบุว่า สถานการณ์ผู้ป่วยใหม่ทั่วประเทศยังทรงตัว ไม่ลดลงตามกราฟขาลงของเวฟ 4 อย่างที่ควรจะเป็น หากพ้นกลางเดือนกันยายนไปแล้ว ตัวเลขรายวันอยู่แถวไหนจะกลายเป็นตัวเลขต่ำสุดของเวฟ 4 ทันที ซี่งจนถึงขณะนี้ค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังอยู่ระดับ 1 หมื่นคนต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระบบสาธารณสุขรับได้ที่ 5,000 คนต่อวัน หากตัวเลขยังทรงตัวอยู่อย่างนี้ และเมื่อไหร่กราฟเริ่มผงกหัวขึ้น นั่นอาจจะเป็นสัญลักษณ์การมาถึงของเวฟใหม่อีกรอบก็เป็นได้
หากดูตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสม วันนี้มียอดจำนวนกว่า 1 ล้าน5 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 1 หมื่นคน และยังพบจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันอย่างต่อเนื่อง นี่ยังไม่นับรวมจำนวนผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อจากการตรวจATK ที่ต้องมีการตรวจซ้ำRTPCRอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยรายใหม่ยังคงมีอยู่จำนวนมาก หากเทียบกับการระบาดในรอบก่อนๆ แม้รัฐบาลจะสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวเลขก็ยังไม่ได้น่าพอใจ เพราะจำนวนผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล "ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" ให้ความเห็นว่า การจะเข้าสู่การระบาดรอบ 5 ต้องมีปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น สายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาแพร่เชื้อเร็ว หรือ รุนแรงกว่าเดิม ส่วนในเดือนตุลาคม จะเห็นตัวเลขการติดเชื้อใหม่ พุ่งสูงขึ้นเป็นหลัก 20,000 รายหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูถึงความเสี่ยงที่สำคัญ คือ คน สถานที่ กิจกรรม และช่วงเวลาเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงใดเพิ่มขึ้น ก็มีสิทธิกลับมาพบการติดเชื้อสูงขึ้นได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า การคลายล็อคมาตรการบางอย่าง ต้องทำควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ถึงร้อยละ90 ไม่ใช่ร้อยละ60หรือ70 ไม่เช่นนั้นเชื้อไวรัสจะแข็งแรงและมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วและสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ ส่วนจะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้หรือไม่ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ อยู่ที่การปฎิบัติตัว อีกทั้งคนติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการและสามารถแพร่เชื้อไปได้เรื่อยๆ มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าควบคุมไม่ได้จะเกิดการระบาดและรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว
แม้แต่เจ้ากระทรวงสาธารณสุข "อนุทิน ชาญวีรกูล" ที่ยังมีข้อกังวลหลังการผ่อนปรนมาตรการต่างๆซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการระบาดรอบใหม่ ถ้าหากทุกคนการ์ดตก ไม่ป้องกันตัวเองก็มีโอกาสเสี่ยงได้เสมอ โดยก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ตรวจเยี่ยมการยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19ในสถานประกอบกิจการประเภทห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยการยกระดับมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร ในสถานประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ออกมาให้คำแนะนำการปฎิบัติตัวที่จะอยู่กับโควิดให้ปลอดภัยได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตัว และการดูแลสุขภาพ หลังได้รับวัคซีนโควิด-19ครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ //นอกจากนี้ปัญหาของผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID จำเป็นต้องได้รับการรักษา และฟื้นฟูอย่างถูกวิธี เพื่อให้สภาพร่างกายผู้ป่วยกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด
ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่นับรวมนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ที่อาจดูสวนทางกับสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ผู้ติดเชื้อรายวันยังขึ้นหลักหมื่นรายต่อเนื่อง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ จนกระทั่งทางรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า "ไม่ใช่การนับถอยหลัง" แต่เป็นเพียงหลักการที่หากจังหวัดใดพร้อมก็ทยอยเปิดก่อน ยกตัวอย่าง จ.ภูเก็ต ที่มีความพร้อมในการเปิดจังหวัดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา
ประเด็นก็คือ รัฐบาลไม่เคยประกาศยุทธศาสตร์ประเทศเรื่องโควิดว่า จะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็สับสนว่ายังจะเปิดประเทศอีกหรือไม่ เนื่องจากการท่องเที่ยวระดับหัวเมือง เริ่มมีปัญหา บางเมือง ศบค.ยังไม่อนุมัติให้เปิด เช่นเดียวกับที่ท่านนายกฯเคยส่งสัญญาณไว้ครั้งหนึ่งว่า เราจะไม่ทุ่มสู้เพื่อเอาชนะโควิด แต่จะ "อยู่กับโควิดให้ได้" เหมือนในหลายๆ ประเทศ
แต่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือ "วิธีการ" ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร และประชาชนต้องทำตัวอย่างไร ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากพอ นอกจากแถลงข่าวรายวันจนประชาชนตามไม่ทัน