svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธรรมนัส-นฤมล"ประกบใกล้ชิด“ลุงป้อม”ตรวจน้ำอยุธยา

22 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ธรรมนัส-นฤม ส.ส.พปชร.กว่า 50 คน ร่วมประกบใกล้ชิดรับ “ลุงป้อม” ลงตรวจน้ำอยุธยา ปารีณา ยันไม่ได้เป็นการวัดกำลังกันกับทีมนายกฯ

22 กันยายน 2564 การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีฝนตกลงมาเป็นระยะ โดยมี ส.ส.พปชร.เดินทางมารอต้อนรับอย่างครึกครื้น ประมาณ 55 คน อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล รวมถึงกลุ่ม ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา ของนายวิรัชด้วย

 

นอกจากนั้น ยังมี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ นายศิริพงษ์ รัสมี น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี เป็นต้น

"ธรรมนัส-นฤมล"ประกบใกล้ชิด“ลุงป้อม”ตรวจน้ำอยุธยา "ธรรมนัส-นฤมล"ประกบใกล้ชิด“ลุงป้อม”ตรวจน้ำอยุธยา

น.ส.ปารีณา กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ได้เป็นการวัดกำลังกัน ทั้งสองท่านยังรักกันเหนียวแน่น การลงพื้นที่เป็นแค่การแบ่งการทำงาน และเมื่อหัวหน้าพรรคลงพื้นที่ที่ไหน ส.ส.ก็จะลงพื้นที่ไปต้อนรับอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ ตนเป็น ส.ส.ราชบุรี ใกล้ จ.เพชรบุรี ก็จริง แต่วันนี้ต้องมาต้อนรับหัวหน้าพรรค จึงให้พ่อไปรอต้อนรับนายกฯ แทน

"ธรรมนัส-นฤมล"ประกบใกล้ชิด“ลุงป้อม”ตรวจน้ำอยุธยา

พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 

 

พล.อ. ประวิตร เผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งมีผลทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ  คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่ง กอนช. ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว นอกจากนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาซึ่งเป็นอุปสรรคการไหลของน้ำ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร และ 19 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 5,128,129 ตัน

 

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง  โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสํารองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า 

 

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

 

ด้าน นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ( ณ 20 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำรวม 10,475 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 42 ของปริมาณความจุ ซึ่งเป็นน้ำใช้การได้เพียง 3,779 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 21 หากเปรียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่ามาก ในครั้งนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง รวมกันมากกว่า 22,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผนวกกับการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ที่ได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมืออย่างเข้มงวด ตลอดจนการวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยารวมกับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำหลากได้ถึง 1,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน

logoline