svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้ปกครอง กังวลกันอยู่หรือเปล่า ที่ลูกหลานจะฉีดวัคซีน ลองพิจารณาดู

18 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ปกครอง กังวลกันอยู่หรือเปล่า กรณี ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12-17 ปี หรือกลุ่มนักเรียน เนชั่นออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูล มาให้พิจารณา ทั้งประเภทวัคซีนที่ใช้ ผลกระทบ ต่างประเทศเขาฉีดกันไหม ดำเนินการเมื่อไรอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ

18 กันยายน 2564 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดทำแนวทางฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17 ปี จำนวนประมาณ 4.5 ล้านคน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเปิดเรียน บนความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง คาดเริ่มฉีด 4 ต.ค.นี้ โดยสธ.ได้ย้ำว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการ เปิดเรียน ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่การ ฉีดวัคซีน ช่วยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

 

เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เข้าเรียนได้ ร่วมกับการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่อาจมีผู้ปกครองบางส่วนที่ยังมีความกังวลหรือข้อสงสัยในการฉีดวัคซีนให้กับลูกหลาน เพื่อคลายความกังวล เนชั่นออนไลน์ จึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก ดังนี้

 

  • กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียน อายุ 12-17 ปี สังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มอาชีวะศึกษา และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เรียนชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ประมาณ 4.5 ล้านคน โดยจะฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้ครอบคลุม ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการจากผู้ปกครอง ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รวบรวมจำนวน ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนให้ต่อไป คาดว่าจะเริ่มฉีดได้วันที่ 4 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีการนัดหมายการฉีดที่โรงเรียน หรืออาจจัดบริการในสถานที่อื่นใกล้โรงเรียน โดยดำเนินการฉีดพร้อมกันทุกชั้นปี จากบุคลากรของโรงพยาบาลที่โรงเรียนประสานไว้ และมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 30 วัน
  • วัคซีน ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี คือ “ไฟเซอร์” (Pfizer) ซึ่งขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียงบริษัทเดียว เป็นวัคซีนชนิด mRNA มีชื่อทางการว่า BNT162b2 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นรายที่ 6 ที่อย.ให้การอนุมัติ

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ฉีดวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 5 ล้านคนทั่วประเทศ

 

สำหรับในต่างประเทศ การฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” ให้กับเด็ก คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) ของประเทศอังกฤษ มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป

 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้พบว่า หลายชาติในสหภาพยุโรป ทั้ง ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และ ฮ่องกง เป็นต้น ได้ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเช่นกัน

 

ผลข้างเคียง หรือข้อพึงระวังหรือไม่ ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการจะหายไปเองในไม่กี่วัน

สถิติจากสหรัฐอเมริกา พบว่า จำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คน ที่เจออาการข้างเคียงนี้ ซึ่ง 8 คนในจำนวน 1 ล้านคนเป็นเด็กผู้หญิง แต่การติดโควิดก็ส่งผลต่อสุขภาพเด็กได้เหมือนกัน รวมถึงมีผลต่อหัวใจพวกเขาด้วย คำถามคือความเสี่ยงนั้นมากแค่ไหน ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะยาว และสหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้เด็กต่อ โดยตอนนี้ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-15 มากกว่า 10 ล้านคนแล้ว ด้วยเชื่อว่า ความเสี่ยงจากโควิดมีมากกว่า ความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงของวัคซีน ในขณะที่ประเทศ ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา อิสราเอล และไอร์แลนด์ ก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน

 

ส่วนในประเทศไทย พบ 1 ราย ในเด็กกลุ่มเสี่ยงอายุ 13 ปี  มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม กรณีมีประวัติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนชนิด mRNA

 

  • อยากฉีดวัคซีนชนิดอื่น ได้หรือไม่ ผู้ปกครองที่กังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ต้องรอการขึ้นทะเบียนปรับการใช้ในเด็กจาก อย.ก่อน ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดสรรวัคซีน ซิโนฟาร์ม ในโครงการ “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีนบริจาค “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี เพื่อติดตามศึกษาผลของวัคซีนและการกลับคืนสู่การศึกษาปกติอย่างเป็นระบบ โดยโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรร มีทั้งหมด 43 โรงเรียน ทั้งนี้ สามารถเริ่มนัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มนักเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนใหม่
  • รูปแบบให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียนในสถานศึกษา (School-based vaccination program) โดยได้ประสานไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หาก สถานศึกษา มีพื้นที่จำกัด ขอให้ให้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการฉีดให้นักเรียนด้วย โดยสถานที่ฉีด เช่น

โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดรัฐบาลและเอกชน

สถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โรงเรียนพระปริยัติธรรม กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

สถาบันการศึกษาปอเนาะ

สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีนักเรียนวัยเดียวกันกำลังศึกษาอยู่ เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม โรงเรียนคนพิการ กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงเรียนในสังกัด อปท. เป็นต้น

 

  • แผนการฉีดวัคซีน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ กทม.จะบริหารจัดการวัคซีนภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กทม.ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประสานงาน ศธ. ศธจ.หรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อเตรียมการดำเนินงานให้วัคซีนนักเรียน

สำรวจเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร และกำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน กำหนดสถานบริการฉีดวัคซีนให้กับแต่ละโรงเรียน โดยประสานผู้บริหารโรงเรียนเพื่อนำนักเรียนเข้ารับวัคซีน พร้อมกับกำกับติดตามรายงานผลการให้ให้บริการในระบบ MoPH IC

นอกจากฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนแล้ว จากข้อมูลขณะนี้ พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษารัฐ และเอกชน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 72% เหลือประมาณ 1.7 แสนคน ที่รอฉีดวัคซีนอยู่  

 

  • ไทม์ไลน์ในการดำเนินการ

      วันที่ 10-17 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษา จัดเตรียมรายชื่อ และจำนวนนักเรียน โดยระหว่างนั้น ศธ.และ สธ.จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.)และอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ซักซ้อมความเข้าใจการฉีดวัคซีน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

       วันที่ 17-22 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษาจัดประชุมทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้เด็ก

       วันที่ 21-24 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษาเชิญผู้ปกครองลงนามแจ้งความประสงค์ (ยินยอม) ให้นักเรียนเข้ารับวัคซีน และหาก สธ.จัดทำแบบสำรวจ และใบยินยอมบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียน/ นักศึกษา ศธ.จะเร่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้สถานศึกษานำไปให้ผู้ปกครองกรอกต่อไป

      วันที่ 25 กันยายน โรงเรียน/สถานศึกษา นำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์แก่ผู้อำนวยการ สพม.หรือ อศจ.แล้วนำส่ง ศธจ.

      วันที่ 26 กันยายน ศธจ./ ผู้อำนวยการ สพท. / อศจ./ ผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดประชุมสรุปจำนวน และรายชื่อนักเรียนเพื่อนำส่งสาธารณสุขจังหวัด

      วันที่ 28-30 กันยายน สาธารณสุขจังหวัด วางแผนการรับวัคซีน และกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน

      วันที่ 1 ตุลาคม โรงเรียน/สถานศึกษา รับทราบกำหนดการ และจัดเตรียมสถานที่

      วันที่ 4 ตุลาคม เริ่มการฉีดวัคซีนแก่นักเรียน

ผู้ปกครอง กังวลกันอยู่หรือเปล่า ที่ลูกหลานจะฉีดวัคซีน ลองพิจารณาดู

logoline