svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

NFT โลกใบใหม่สำหรับศิลปิน ช่องทางใหม่สำหรับนักลงทุน

16 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

NFT ชื่อที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูแต่กลายเป็นโลกใบใหม่สำหรับเหล่าศิลปิน ก้าวเข้ามาเป็นโอกาสในการทำเงินและเผยแพร่ผลงานของตนสู่ทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งเป็นช่องทางใหม่ที่บรรดานักลงทุนต่างให้ความสนใจ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักและวิเคราะห์แนวโน้มกัน

Highlights

- NFT เป็นกรรมสิทธิ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตขึ้นมาภายหลังการได้รับความนิยมของสกุลเงินดิจิทัล

- ถูกใช้ในการยืนยันกรรมสิทธิ์สำหรับทรัพย์สินทางปัญญาภายในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยการสแกนหรือนำผลงานเข้าในระบบ สร้างโทเคน แล้ววางขายบนโลกออนไลน์

- สามารถวางขายได้ตั้งแต่ภาพวาด ภาพถ่าย หรือแม้แต่ทวิตเตอร์ ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- แม้จะถูกสั่งระงับห้ามซื้อ-ขายในประเทศไทยแต่มีความเห็นจากศิลปินรุ่นใหญ่มองว่านี่คือช่องทางแห่งอนาคต

 

          โลกเราได้รู้จักการมาถึงของ Cryptocurrency หรือ คริปโต เป็นสกุลเงินเสมือนเข้ารหัสภายในโลกอินเตอร์เน็ต ได้รับการพูดถึงและถูกยอมรับเป็นหนึ่งในตลาดลงทุนมาสักพัก ด้วยความอิสระปราศจากการควบคุมของภาครัฐหรือหน่วยงานใดในโลก และความใหม่ของมันจึงเริ่มเป็นที่จับตามองของนักลงทุน

 

          ในบรรดาคริปโตทั้งหลายที่โด่งดังมีชื่อเสียงมากสุดคงเป็นเจ้าไหนไปไม่ได้นอกจาก บิทคอยน์ หนึ่งในสกุลเงินเสมือนเจ้าแรกของโลก ได้รับการยอมรับให้สามารถดำเนินธุรกรรมและใช้ในการดำเนินธุรกรรมได้ กลายเป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ที่น่าจับตา แม้สาเหตุในการแพร่หลายของมันจะมาจากไวรัสคอมพิวเตอร์ WannaCry ก็ตาม

 

          หลักการทำงานของสกุลเงินเหล่านี้อาศัยระบบ บล็อกเชน เป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลโดยรับประกันความปลอดภัย ว่าข้อมูลที่เคยทำการบันทึกไปก่อนหน้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ และผู้ใช้งานจะได้เห็นและสามารถขอเข้าถึงสำเนาข้อมูลชุดเดียวกันได้ทั้งหมด เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบยืนยันความโปร่งใส

 

          การมาถึงของสกุลเงินดิจิทัลย่อมทำให้ผู้คนหันมาสนใจธุรกิจในโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงลู่ทางในการทำธุรกิจหรือขยับขยายภายในวงการ นั่นเป็นที่มาของ NFT เริ่มเข้ามามีบทบาทและได้รับการพูดถึงมากขึ้น

เว็บแพลตฟอร์มให้บริการ NFT รายใหญ่ที่สุดในโลก

NFTคืออะไร? แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลทั่วไปอย่างไร?
          NFT (Non-Fungible Token) มีความหมายว่า “เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้” คือเอกสิทธิ์หรือรูปแบบการรับรองผ่านช่องทางดิจิทัลในความเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การครอบครองทำให้เราได้กรรมสิทธิ์ในของชิ้นนั้นมา มีสิทธินำไปใช้งาน ขายต่อ แม้แต่โอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้อื่น รวมถึงการนำไปสร้างรายได้ในลำดับถัดไป

 

          ความแตกต่างระหว่าง NFT กับคริปโตคือความเฉพาะตัวและปัจเจกที่ NFT นั้นมีความเฉพาะเจาะจงสูงกว่าเนื่องจากเป็นกรรมสิทธิ์ที่มีต่อสินทรัพย์ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคริปโตอาจมีมูลค่าในฐานะสื่อกลางแลกเปลี่ยนหรือเงิน แต่ NFT จะมีลักษณะคล้ายการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานศิลปะ

 

          แน่นอนว่าภายในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยการนำไปใช้ต่อ ใช้ซ้ำ หรือคัดลอกไปมาหากันอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่ง NFT จะมาทำหน้าที่ในส่วนนี้เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของทรัพย์สินชิ้นดังกล่าว มีทั้งใบรับรองและกฎเกณฑ์ในการอนุญาตให้นำไปใช้งาน ยืนยันความเป็นเจ้าของและกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองได้ด้วยระบบบล็อกเชน ที่ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้โดยอิสระ

 

          ในส่วนด้านกรรมสิทธิ์หรือความปลอดภัยเองก็ได้รับการยอมรับ ด้วยระบบบล็อกเชนแบบเดียวกับสกุลเงินดิจิทัลทั้งหลาย เครือข่ายการเข้าถึงจะบันทึกข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ รวมถึงสามารถย้อนประวัติสิทธิการครอบครองของ NFT แต่ละชิ้นได้ด้วย ว่าก่อนมาถึงมือเรามีใครเคยเป็นเจ้าของมาบ้างได้อีกด้วย
 

ขยายความเป็นไปได้ของโลกศิลปะและสินทรัพย์ทางปัญญาอย่างไร้ขอบเขต
          แวดวงที่ให้ความสนใจใน NFT เป็นลำดับแรกๆ คือกลุ่มศิลปินและนักสะสมเริ่มขยับขยายมาสู่เส้นทางดิจิทัล แต่ปัจจุบันขยายตัวเป็นวงกว้าง มีตั้งแต่รูปวาด รูปถ่าย ภาพกราฟฟิก คลิปวีดีโอ เพลง การ์ตูน ฯลฯ อีกทั้งเริ่มขยายตัวไปถึงธุรกิจเกมหรือแวดวงโปรแกรมเมอร์ขึ้นมาแล้วด้วย

 

          ขั้นตอนในการนำผลงานเข้าสู่ตลาด NFT ก่อนอื่นต้องสมัครบริการของเว็บที่คิดจะเข้าไปใช้งานก่อน หลังจากสมัครและเชื่อมบัญชีเสร็จสิ้นก็สามารถนำผลงานที่ถูกสร้างขึ้นเข้ามาในระบบ ในขั้นตอนนี้จะถูกเรียกว่าการ Mint เพื่อนำไปจัดแสดงบนหน้าเว็บไซต์ สร้างโทเคนขึ้นมารองรับ กลายเป็นงานศิลปะเข้ารหัสบนโลกออนไลน์ที่สามารถนำไปซื้อขายได้

 

          นอกจากในส่วนกรรมสิทธิ์ของผลงานศิลปะหรือสิ่งของบนโลกออนไลน์แล้ว อีกส่วนที่เริ่มนำมาใช้งานคือบรรดาสตรีมเมอร์เองก็มีการออก NFT ของตัวเองเช่นกัน โดยแลกกับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นเฉพาะของแฟนคลับผู้คอยสนับสนุน เพิ่มโอกาสในการใกล้ชิดบรรดาสตรีมเมอร์ที่ชื่นชอบ

 

          น่าจับตาว่าในอนาคต NFT จะสามารถนำไปใช้ในวงการหรือขยายความเป็นไปใหม่ใดเพิ่มเติม

Disaster Girl ภาพถ่ายมีมที่ถูกประมูลไปในราคากว่า 15 ล้านบาท

มูลค่าและเม็ดเงินไหลเวียนภายในตลาด NFT ปัจจุบัน
          ย่อมต้องมีคำถามสำหรับผู้คนเริ่มสนใจในวงการนี้ว่า NFT นี่สามารถสร้างรายได้กับศิลปินได้แค่ไหน? ในเมื่อทั้งกรรมสิทธิ์และสิ่งที่เราเป็นเจ้าของทั้งหมดอยู่ในโลกออนไลน์ จะสามารถนำไปขายเป็นเงินได้สักเท่าไหร่? ดังนั้นจึงขอยกตัวอย่างชิ้นงานมูลค่าสูงขึ้นมาให้รับชม

 

          ภาพ Everydays: The First 5000 Days ของศิลปินดิจิทัล Beeple หรือ Mike Winkelmann ที่ทำการรวบรวมภาพโพสท์ทางออนไลน์เป็นเวลากว่า 5,000 วันนับแต่ปี 2007 เป็นต้นมาสร้าง NFT ถูกประมูลกันอย่างดุเดือดและจบการขายด้วยราคา 69.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินราว 2 พันล้านบาท

 

          ภาพมีมในตำนาน Disaster Girl ภาพเด็กผู้หญิงวัยสี่ขวบกำลังหันมายิ้มให้ โดยมีฉากพื้นหลังเป็นบ้านกำลังวอดวายในกองเพลิง เด็กหญิงเจ้าของภาพตัดสินขายภาพดังกล่าวลงใน NFT ก่อนมีผู้ซื้อไปในมูลค่ากว่า 473,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตีเป็นเงินไทยได้ประมาณ 15 ล้านบาท

 

          หรือสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะขายได้อย่าง The First Tweet ข้อความแรกของโลกบนแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย Twitter ของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ทำการขายข้อความแรกของเขาและของเว็บบนทวิตเตอร์ไปในราคา 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 94 ล้านบาท

 

          จากข้อมูลของเว็บ CrypoSlam ปัจจุบันตลาด NFT มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถทำเงินจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไปได้มากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯเลยทีเดียว

ทวิตแรกของโลกกับราคาขายใน NFT ราว 94 ล้านบาท

แนวโน้มในการเติบโตของ NFT ในปัจจุบันและอนาคต
          การเติบโตและขยายตัวของ NFT ราบรื่นและมีอนาคตแม้แต่ศิลปินในไทยยังเริ่มให้ความสนใจ ล่าสุด ติ๊ก ชิโร่ หรือ ดร.มนัสวิน นันทเสน ผู้นำผลงานภาพวาดของตนลงขายในช่องทางนี้ สนนราคาเปิดประมูลเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทเป็นครั้งแรกบนเว็บ opensea เพื่อเป็นการปรับตัวเข้ากับยุคสมัย

 

          น่าเสียดายในประเทศไทยการซื้อขาย NFT ถูกสั่งห้ามโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้การซื้อขายในไทยทำได้โดยไม่สะดวกนัก จนอาจเป็นการตัดโอกาสทางธุรกิจและโอกาสสำหรับศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานในประเทศ
ปัจจุบันความนิยมในการซื้อขาย NFT ทวีจำนวนมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ทำให้การรวมตัวที่ศูนย์จัดแสดงภาพกับหอศิลป์ปิดให้บริการต้องมีสิ่งอื่นมาทดแทน ทั้งสำหรับตัวศิลปินหรือผู้ซื้อต่างโหยหางานศิลปะทั้งหลาย ประกอบกับความนิยมในสกุลเงินคริปโตเพิ่มขึ้นทุกวันจึงทำให้เกิดการขยายตัวในทุกวันนี้

 

          นั่นทำให้โอกาสและช่องทางของศิลปินรุ่นใหม่เริ่มเปิดกว้าง ทุกคนบนมุมโลกสามารถเข้ามารับชมฝีมือการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยสถานที่อีกต่อไป อีกทั้งไม่มีการแบ่งแยกหรือกีดกัน จากนี้ขอเพียงแค่คุณมีฝีมือและผลงานยอดเยี่ยมพอไม่ว่าที่ไหนก็สามารถทำเงินได้ เปิดมิติและมุมมองใหม่ให้กับเหล่าศิลปินในทุกระดับโดยแท้จริง

 

          อีกทั้งความเห็นจากศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ติ๊ก ชิโร่ เองก็ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยี NFT คือเรื่องน่าสนุกและนำไปต่อยอดได้หลากหลาย อีกทั้งเป็นการปรับตัวเข้าหายุคสมัยแก่ศิลปะ ด้วยไม่ต้องกังวลการฉีกขาด แตกหักสูญหาย หรือเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่จะคงอยู่กับเราตลอดไปนานเท่านานตราบเท่าที่โลกยังมีอินเตอร์เน็ต

 

          ยากจะคาดเดาได้ว่าในอนาคตทิศทางของตลาด  NFT จะเป็นเช่นไร จะถูกจำกัดไว้แค่สำหรับกลุ่มนิยมชมชอบในศิลปะ แพร่หลายไปทั่วทุกวงการในอนาคต หรือจางหายไปตามกาลเวลา แต่สำหรับตอนนี้สิ่งที่บอกได้มีเพียง ช่องทางและโลกใหม่สำหรับศิลปินได้เปิดขึ้นมาแล้ว

 

เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช

--------------------

ที่มา:

logoline