svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระวัฒน์ แนะ 2 แนวทาง เพื่อเปิดเทอมอย่างปลอดภัยจากโควิด

หมอธีระวัฒน์ แนะนำต้องดำเนินการ 2 แนวทางอย่างเข้มงวด เพื่อให้การเปิดเทอมอย่างปลอดภัย ทั้งการฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง

13 กันยานยน 2564 นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ หมอธีระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" แนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การเปิดเรียนมีความปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้.. 

 

เด็กเล็กอย่างน้อยตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 18 มีการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะตั้งแต่มีสายพันธุ์เดลตาไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ และกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุด แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงในช่วงระยะแรก (acute COVID) จะน้อยกว่า แต่ในระยะถัดมา (subacute ใน 2 -4 เดือน) และระยะยาวกว่านั้น (long COVID) 

 

พบผลกระทบในรูปลักษณะ มีการอักเสบในหลายอวัยวะ จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล และในระยะยาวเป็นไปได้อย่างสูง ที่จะมีผลกระทบกับทุกอวัยวะ ซึ่งส่งผลไปถึงการพัฒนาการการเจริญเติบโตและโดยเฉพาะผลกระทบทางสมอง ทั้งนี้แม้ว่าความรุนแรงของการติดเชื้อในระยะแรกจะมีไม่มากหรือแทบไม่มีก็ตาม

 

หมอธีระวัฒน์ แนะ 2 แนวทาง เพื่อเปิดเทอมอย่างปลอดภัยจากโควิด
 

ดังนั้น มาตรการที่ควรกระทำ 2 ข้อ ดังนี้


1. ให้วัคซีนกับเด็กทุกอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ วัคซีน mRNA ไบโอเอ็นเทค กำลังอยู่ในระหว่างการอนุมัติฉีดตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป (ข้อมูลวันที่ 11 กันยายน 2564) โดยใช้ขนาดเนื้อวัคซีนน้อยลง เพื่อปิดช่องว่างให้ต่อเนื่องกับการใช้ในอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตามข้อควรระวังก็คือในเด็กจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสำหรับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงที่สุด และแม้ว่าจะมีการให้ความมั่นใจว่าอาการไม่รุนแรงและรักษาทันท่วงทีก็ตาม แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากในเด็กกลุ่มอายุเหล่านี้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะน้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่มาก ยกเว้นเป็นในเด็กที่มีโรคประจำตัวมากอยู่แล้ว

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวการใช้วัคซีนเชื้อตายดังที่มีการปฏิบัติในประเทศจีนแล้วน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายมีการใช้ในการป้องกันโรคอื่นมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปีแล้ว

 

หมอธีระวัฒน์ แนะ 2 แนวทาง เพื่อเปิดเทอมอย่างปลอดภัยจากโควิด

 

ทั้งนี้การฉีดเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคให้ได้เร็วที่สุดสามารถกระทำได้โดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนังด้วยปริมาณ 0.1 ซีซีในวันที่ศูนย์และวันที่เจ็ด และเป็นไปได้ที่ภูมิคุ้มกันจะขึ้นภายในสองถึงสี่สัปดาห์ขึ้นไป ตามรูปแบบการฉีดป้องกันล่วงหน้าวัคซีนพิษสุนัขบ้า และสามารถเปิดเรียนได้ในหนึ่งเดือนหลังจากฉีดเข็มที่สอง

 

หลังจากนั้นเพื่อครอบคลุมสายพันธุ์เช่นเดลตาจำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเช่นไบโอเอ็นเทค แบบชั้นผิวหนัง 0.1 ซัซี  ในช่วงเวลาเดือนครึ่งถึงสามเดือนหลังจากเข็มที่สอง

 

2. การตรวจคัดกรอง ชุดตรวจคัดกรองที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการคัดกรองกล่าวคือไม่มีความไวที่ต้องการที่จะเข้าใกล้ 100% ทำให้มีโอกาสพลาดตั้งแต่ 10 ถึง 20% หรือมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตรวจปลายนิ้วหาภูมิตอบสนองต่อการติดเชื้อในคนที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือการตรวจหาเชื้อ แบบ ATK ด้วยการตรวจในน้ำลาย หรือด้วยการแยงจมูกตื้นๆ จนกระทั่งลึกเข้าไปในโพรงจมูกด้านหลังและลำคอก็ตาม

 

หมอธีระวัฒน์ แนะ 2 แนวทาง เพื่อเปิดเทอมอย่างปลอดภัยจากโควิด

แต่เนื่องจากข้อจำกัดของชุดตรวจทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นถือว่าเป็นมาตรการเสริมกับการฉีดวัคซีนในข้อที่หนึ่ง

 

ทั้งนี้ในเด็กเล็ก สามารถตรวจที่บ้านได้โดยการตรวจน้ำลายหรือการแยงจมูกตื้นๆ โดยที่ในเด็กโตขึ้นจะเป็นการแยงจมูกลึกถึงลำคอ

 

ความถี่ของการตรวจเด็กจะอยู่ที่อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้งห่างกันห้าวัน จนกระทั่งถึงวันเว้นวัน

 

แต่เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนและสถานศึกษาจะต้องมีการตรวจในลักษณะดังกล่าวด้วยการแยงจมูกและลำคอถี่กว่า อย่างน้อยวันเว้นวัน ถ้าปรากฏผลบวก อาจจะถือว่ามีการแพร่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้นแล้วโดยขอบเขตการแพร่อยู่ที่การสืบสวนและสอบสวนต่อ