- 13 ก.ย. 2564
- 108
เมื่อ NFT ที่เป็นอีกรูปแบบของคริปโตฯ มีบทบาทมากขึ้นในทุกวงการ แล้วกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัล จะสร้างประโยชน์ให้วงการกีฬาได้อย่างไร
Highlights
- NFT คือคริปโตเคอร์เรนซีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่ละโทเคนจะมีเพียงหนึ่งเดียวทดแทนกันไม่ได้ จึงถูกใช้เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์บนสินทรัพย์ดิจิทัลแทน
- ปัจจุบัน การใช้งาน NFT ที่เห็นได้บ่อยที่สุดคือในโลกศิลปะ ส่วนในวงการกีฬาก็ถูกใช้ระบุความเป็นเจ้าของกับการ์ดสะสมแบบดิจิทัล เช่น NBA Top Shot ที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์
- นักกีฬาและสโมสรกีฬาชั้นนำ อย่าง ร็อบ กรอนคาวสกี หรือ ยูเวนตุส ก็ร่วมบุกเบิกเทรนด์นี้ เพื่อเปิดทางสู่การนำไปประยุกต์ใช้กับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในวงการ
ในยุคที่สินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งผูกโยงกับบล็อกเชน เริ่มมีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากสกุลเงินดิจิทัลอย่าง บิทคอยน์ หรือ อีเธอเรียม ที่มีมูลค่าการเทรดมหาศาลในแต่ละวันแล้ว
NFT ซึ่งเป็นอีกรูปแบบของการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชน ก็ถูกมองว่าจะเป็นอีกเทรนด์สำคัญในอนาคตอันใกล้ในทุกวงการ รวมถึงอุตสาหกรรมกีฬาด้วย
NFT ต่างจากบิทคอยน์อย่างไร?
คุณสมบัติของบิทคอยน์ (รวมถึงอัลท์คอยน์ เช่น อีเธอเรียม, โดชคอยน์ ฯลฯ) คือ fungibility แปลว่า ทุกเหรียญที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะจำกัดหรือไม่จำกัด ต้องมีลักษณะเหมือนกัน
ส่วน NFT หรือ Non-Fungible Token ก็แปลตรงตัว คือทดแทนกันไม่ได้ แต่ละโทเคนที่สร้างขึ้น มีเพียงหนึ่งเดียว จึงสามารถประยุกต์ใช้ เพื่อยืนยันตัวตน หรือแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ปัจจุบัน ตัวอย่างการใช้งาน NFT ที่เราเห็นกันมากที่สุด คือเพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ สำหรับซื้อขายงานศิลปะดิจิทัล และของสะสมต่าง ๆ
Top Shot จับโมเมนต์ยัดห่วงใส่การ์ด NFT
ในแวดวงอเมริกันเกมส์ NFT เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ จากกระแสของการ์ดดิจิทัล NBA Top Shot
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Top Shot คือการ์ดสำหรับนักสะสม เหมือนการ์ดนักฟุตบอลของ Panini หรือนักกีฬาอเมริกันเกมส์ของ Topps ที่มีหลายปัจจัยในการกำหนดราคาในตลาดซื้อขายมือสอง
เช่น ความดังของนักกีฬาคนนั้น ซีเรียลนัมเบอร์ ความหายาก ฯลฯ
แต่ Top Shot อาจจะพิเศษกว่าตรงที่มันเป็นดิจิทัล จึงใส่ลูกเล่นได้มากกว่า แทนที่จะเป็นภาพนิ่ง ก็เปลี่ยนเป็นคลิปไฮไลท์ชอตสำคัญ ๆ ใน NBA
ยิ่งไปกว่านั้น มันยังช่วยแก้ปัญหาในตลาดซื้อขายของการ์ดแบบเดิมได้
ยกตัวอย่างการ์ดแบบดั้งเดิมของ Panini ในตลาดมือสอง นักสะสมไม่มีทางเช็คได้เลยว่า การ์ดที่ผลิตออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยังเหลืออยู่กี่ใบบนโลก ซึ่งจะเป็นตัวแปรด้านราคา ในแง่ scarcity คือยิ่งเหลือน้อย ก็ควรจะยิ่งแพง
สมมติ ว่าเราทุ่มเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อการ์ดหนึ่งใบ เพราะคิดว่ามันจะต้องหายาก แต่ไป ๆ มา ๆ ราคาอาจจะตกฮวบฮาบทีหลังได้ ถ้าปรากฎว่ามีการ์ดชุดเดียวกันนี้อีกหลายใบ
นอกจากนี้ การขอใบรับรองจากผู้ตรวจสอบการ์ด ก็กินเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ทั้งในการส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ ตัดเกรด และส่งกลับมา และถ้าโชคร้าย เกิดอุบัติเหตุจนเกิดรอย แม้เพียงเล็กน้อย ราคาก็จะหล่นวูบทันที
แต่การ์ด NFT นอกจากจะไม่เสียหายเหมือนกระดาษแล้ว ต่อให้ผู้ผลิตปิดตัวลง การ์ดก็จะไม่หายไป เพราะข้อมูลถูกเก็บเป็นสำเนาให้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายบล็อกเชน
ข้อมูลเหล่านั้น ยังช่วยให้เราตรวจสอบประวัติของการ์ดย้อนหลังได้ทั้งหมด ว่ามีกี่ใบในคอลเลคชั่น ใครบ้างที่เคยเป็นเจ้าของ ราคาซื้อขายทั้งหมดที่ผ่านมา ฯลฯ
มูลค่าที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น
ยังถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับราคาเทรดดิ้งการ์ดที่แพงที่สุดในโลก คือการ์ดนักเบสบอล มิคกี แมนเทิล จากปี 1952 ซึ่งเพิ่งถูกประมูลไปในราคา 5.2 ล้านดอลลาร์ (170 ล้านบาท)
แต่ สตีฟ โพแลนด์ เจ้าของเว็บไซต์ Mighty Minted ที่ทำธุรกิจการ์ด Top Shot ในตลาดมือสอง มองว่าอุตสาหกรรมนี้ ยังเติบโตได้อีก ซึ่งก็ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัยด้วย
เช่น การคุมปริมาณสินค้าในตลาด ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไปจนกระทบต่อราคาขาย ทั้งในการประมูลครั้งแรกหรือขายต่อมือสอง ยกเว้นการ์ดใบที่พิเศษจริง ๆ อย่างการดังค์ชอตนั้นของ เจมส์ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ
อีกจุดเด่นของ Top Shot คือการเป็น NFT ที่เข้าถึงและซื้อได้ง่ายที่สุด คือขอเพียงมีบัตรเครดิตก็สามารถซื้อได้แล้ว
ต่างจากมาร์เก็ตเพลสสำหรับ NFT อื่น ๆ อย่าง OpenSea หรือ Foundation ที่รับชำระด้วย ETH และมีกระบวนการที่ซับซ้อนพอสมควร ตั้งแต่การเปิดบัญชีเอ็กซ์เชนจ์ การเชื่อมต่อวอลเลทสำหรับเงินดิจิทัล ฯลฯ
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโลกของ NFT ในตลาดเหล่านั้น จะมีมูลค่าน้อยกว่า
เห็นได้จากกรณีของ ร็อบ กรอนคาวสกี ปีกคู่ใจของ ทอม เบรดี ซึ่งเป็นนักกีฬาดังรายแรก ๆ ที่เข้าสู่วงการนี้
"กรองค์" ร่วมมือกับ อดัม ริชแมน และ โจ ซิลเบอร์สไวก์ จาก Medium Rare นำ "Rob Gronkowski Championship Series NFT Collection" ไปประมูลบน OpenSea มาร์เก็ตเพลส NFT ที่ใหญ่ที่สุด
และทำรายได้จากคอลเลคชั่นนั้น รวมแล้วเกือบ ๆ 2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 65 ล้านบาท โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยน ETH เป็นเงินดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบัน น่าจะเพิ่มขึ้นมาราวเท่าตัว)
ถ้าไม่ใช่นักสะสมหรือเก็งกำไร จะใช้ประโยชน์จาก NFT อย่างไร?
ตามหลักการแล้ว เรานำ NFT มาประยุกต์สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ได้มากมาย (บางเคสอาจขึ้นกับกฎหมาย)
เช่น ตั๋วเข้าชมเกมที่ปัจจุบัน น่าจะเริ่มเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็น QR code ในสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนตั๋วให้เป็น NFT ด้วย ก็จะป้องกันการปลอมแปลงได้ง่ายขึ้น เพราะตรวจสอบจากข้อมูลบนบล็อกเชนได้
รวมถึงสามารถติดตามได้หากมีการนำไปขายต่อในตลาดมือสอง ซึ่งจะช่วยจัดการธุรกิจขายตั๋วผีได้ง่ายขึ้น
หรืออย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยูเวนตุส และ อาดิดาส ก็เพิ่งเข้าสู่โลกของ NFT ด้วยการร่วมมือกับ Geer ผู้ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ
เพื่อเปิดประมูลเสื้อเหย้ารุ่นใหม่ของสโมสร ทั้งเวอร์ชั่นปกติ และแบบที่เป็นดิจิทัล พร้อมโทเคน NFT สำหรับแลกสิทธิ์มีทแอนด์กรีทแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับผู้เล่นในทีมด้วย
และในอนาคต เราอาจได้เห็นการเล่นแร่แปรธาตุโมเดลธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ จาก NFT ในการแสดงกรรมสิทธิ์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ตั๋วปี หรือแม้แต่การระดมทุนจากแฟน ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
คริสเตียน เฟอร์รี ซีอีโอของ Geer เสริมว่า แม้อาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุด NFT ก็จะเป็นที่ยอมรับ เมื่อถูกนำมาใช้มากขึ้น และพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของมัน
ชาตรี ตันสถาวีรัฐ
--------------------
SOURCE:
- A clear explanation of NFTs and their potential impact on sports
- NFT auction celebrating NFL star Rob Gronkowski drives $1.8M in sales
- The 10 most expensive NBA Top Shot digital cards right now
- 10 of the Greatest and Most Expensive Topps Baseball Cards (Updated 2021)
- Rob Gronkowski Championship Series NFT Collection
- Juventus has entered the world of NFTs