svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“บัตร 2 ใบ”ฉลุย ล่าชื่อยื่นศาลรธน.ส่อสะดุด

11 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น “บัตร 2 ใบ” ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระ 3 ไปได้ แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาก็คือ หลังจากนี้จะมีขวากหนามหรือการเตะสกัดทางการเมืองอะไรกันอีกหรือไม่

โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

การโหวตผ่านวาระ 3 เมื่อวานนี้ จริงๆ เป็นเพียง "ยกแรก" ของการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งใหม่ จาก "บัตรใบเดียว" เป็น "บัตร 2 ใบ" เท่านั้น เพราะหลังจากนี้ยังมีช่องทางให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยดำเนินการได้อีก เรียกได้ว่าเป็น "ยกที่ 2"

 

นั่นก็คือการรวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (9) ใช้เสียง 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ก็คือ 73 เสียงเท่านั้น

 

หากสุดท้ายมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ นายกรัฐมนตรีก็จะยังไม่สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระ 3 แล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

หากศาลวินิจฉัยว่าร่างที่ผ่านวาระ 3 ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นขั้นตอนการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ แต่การแก้ไขกติกาการเลือกตั้งยังไม่จบเท่านี้ ยังมี "ยกที่ 3" คือ การปรับแก้กฎหมายลูกกันอีกรอบ ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ 

 

ซึ่งในขั้นตอนนั้นจะมีการกำหนดวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะต้องมีความเห็นแย้ง โดยกลุ่มพรรคการเมืองที่ร่วมโหวตสนับสนุน "บัตร 2 ใบ" ในวันนี้ อาจไปแตกคอกัน ที่ขั้นตอนนั้นก็ได้ เพราะต้องการกำหนดรูปแบบการคำนวณให้พรรคของตนได้ประโยชน์สูงสุด

ย้อนกลับมาที่การพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะนี้ตัวตั้งตัวตีคือ แกนนำพรรคเล็กอย่าง นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับ "เนชั่นทีวี" ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ 15 วัน และต้องการ ส.ส. หรือ ส.ว. ที่สนับสนุน 73 เสียง แต่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องศึกษาประเด็นทางกฎหมายให้ถ่องแท้ว่า เมื่อยื่นแล้วต้องมีช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ 

 

เพราะถ้าไม่มีทางเลย ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะยื่นหรือไม่ โดยเป้าหมายของการล่าชื่อให้ครบ 73 ชื่อ อยู่ที่พรรคการเมืองลงมติ "งดออกเสียง" ทั้งหมด หลักๆ คือ พรรคภูมิใจไทย กับพรรคก้าวไกล แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล โฆษกพรรคออกมาแถลงว่าจะไม่ร่วมลงชื่อ ทำให้ขณะนี้การล่าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังได้ไม่ถึงครึ่ง แต่ก็ยังมีเวลาเพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจ

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อนักการเมือง และเพื่อพรรคการเมือง ทำให้พรรคใหญ่ๆ ที่มีทุนมหาศาลมาสร้างความเข้มแข็งได้มากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกตั้ง

 

สำหรับข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม"​ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มี 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน คือ

 

1.การเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อย กลุ่มเกษตรกร ชาวนา กลุ่มครู หากรวบรวมเสียงจากทั่วประเทศได้ 7 หมื่นเสียง ก็ได้ผู้แทนมานั่งเป็นปากเป็นเสียงในสภา 1 คน

 

2.ระบบการคิด "ส.ส.พึงมี" ยุติธรรมที่สุด กล่าวคือได้คะแนนโหวตเท่าใด แปรเป็นจำนวน ส.ส.เท่านั้น ไม่ใช่เอาผลการเลือกตั้ง ส.ส. 2 ระบบมานับต่อกัน ทำให้พรรคใหญ่ยิ่งได้เปรียบ แต่การแก้ไขครั้งนี้ถูกล้มออกไป

 

3.คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ทุกคะแนนมีความหมาย แต่การแก้ไขครั้งนี้ ทำให้คะแนนเสียงตกน้ำ โดยเฉพาะ ส.ส.เขต เสียงของคนแพ้ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ

logoline