svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จิตแพทย์ห่วง คนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มจากพิษโควิด

10 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแนวโน้ม คนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ขณะที่ สคล.เผย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นการฆ่าตัวตาย

10 กันยายน 2564 จากสภาวะความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจที่จะ "หนี" หรือ "ทิ้ง" ปัญหาทุกอย่างด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีคนทั่วโลกฆ่าตัวตายถึงวันละเกือบ 3,000 คน เท่ากับว่าในหนึ่งปีจะมีคนฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ล้านคน และตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยข้อมูลจากใบมรณบัตรพบว่า

  • ปี 2560 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03 ต่อแสนประชากร 
  • ปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.6 ต่อแสนประชากร และเพิ่มมาเป็น 7.0 ต่อแสนประชากร โดยข้อมูล่าสุด
  • ปี 2564 อัตรากาฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าน่ากังวลมากๆ เพราะสูงเทียบเท่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเลย โดยคาดว่าแนวโน้มการฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ มาตรการป้องกันโควิด คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย

พญ.สุวรรณา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันและลดอัตราการฆ่าตัวตาย มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ เน้นการใช้ฐานข้อมูลที่เป็นจริง และให้ความสำคัญกับจังหวัด มีมาตรการและกำหนดแผนอย่างชัดเจน

"ประชาชนสามารถเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงการดูแลป้องกันการปัญหาการฆ่าตัวตาย ในระดับบุคคลที่ประสบภาวะวิกฤต ขอให้มีพลัง ฮึดสู้ ขณะที่สังคม ชุมชน ต้องมีการสร้างความหวัง สร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างโอกาส ทุกคนร่วมด้วยด้วยกัน ใช้ศักยภาพของชุมชนขับเคลื่อน"

จิตแพทย์ห่วง คนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มจากพิษโควิด  

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เผยว่า ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญของการฆ่าตัวตาย เป็นอันดับ 3 และในภาคเหนือเคยมีรายงานว่า สถิติการฆ่าตัวตายสูงหลังไปร่วมงานศพที่มีการเลี้ยงเหล้าในงาน ต่อมาคนในชุมชนมีมติให้จัดงานศพปลอดเหล้า สถิติการฆ่าตัวตายลดลงจริง ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิดมีหลายปัจจัยเพิ่มที่ทำให้คนมีความเครียดมากยิ่งขึ้น เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว รายได้ลดลงหรือตกงาน กลัวติดเชื้อ เป็นต้น ถ้าหันไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะยิ่งเป็นเหตุสนับสนุนการฆ่าตัวตายมา ยิ่งขึ้น

"ถ้าคิดใหม่ ใช้สถานการณ์วิกฤตนี้ ให้เป็นโอกาส ในการ ลด ละ เลิก การดื่มน้ำเมาทุกชนิด เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานสู้โควิด ป้องกันสุขภาพจิต สุขภาพใจ อีกทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ไม่เป็นแหล่งกระจายเชื้อจากการขาดสติ และช่วยลดรายจ่าย เปลี่ยนค่าน้ำเมาไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นกับครอบครัว ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก"

จิตแพทย์ห่วง คนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มจากพิษโควิด  

ทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" หรือ "World Suicide Prevention Day" โดยในปีนี้ กรมสุขภาพจิตได้ผลักดันและรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตายในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตจึงผลักดันแคมเปญ "See You Tomorrow แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้" เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการสังเกตตนเองว่ามีความเสี่ยงในการรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้จาก

  • 1. ความคิดและความรู้สึกที่สุดขั้ว เช่น รู้สึกไร้ทางออกโดยสมบูรณ์ รู้สึกผิดอย่างไม่สามารถให้อภัยได้ หรือโกรธเกลียดอย่างรุนแรง ซึ่งความคิดและความรู้สึกเช่นนี้เป็นปัจจัยนำไปสู่การสิ้นหวังหรือหมดใจได้ง่าย
     
  • 2. รู้สึกยอมแพ้ไปหมด เชื่อมั่นว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว อาจบ่นและตำหนิมากขึ้นแต่ขาดแรงที่จะเดินเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น
  • 3. แยกตัวจากสังคม ซึ่งยิ่งแยกตัวมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ตัวเราเองนั้นจมอยู่กับความเชื่อและความสิ้นหวังของตนเองมากขึ้น

 

logoline