svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปธ.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แนะฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ก่อนถึงเด็ก

"สมศักดิ์ โลห์เลขา" ยืนยันยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน เน้นฉีดผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู คนในบ้าน ให้ครบก่อนเพื่อกันการแพร่กระจาย ขณะที่ "สมพงษ์ จิตระดับ" ย้ำต้องหามาตรการดูแลเด็กรับผลกระทบโควิด ช่วงเปิดเทอม

8 กันยายน 2564 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้น โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ว่า จำนวนเด็กที่ป่วยในช่วงแรก 997 คน หรือคิดเป็น 6 % ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึง 1.4 แสนคน หรือ 14 % ของผู้ติดเชื้อ และติดเชื้อจากที่บ้าน เพราะโรงเรียนยังไม่ได้เปิด

 

ทั้งนี้ เด็กที่ป่วยแล้วเสียชีวิต จำนวน 20 คน เป็นเด็กมีโรคประจำตัวมาก่อน โดยกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อสูงสุด อยู่ระหว่าง 12-18 ปี คิดเป็น 38% รองลงมา 6-12 ปี คิดเป็น 32% และอายุต่ำว่า 6 ปี ประมาณ 5% ซึ่งเด็กอายุ 6-12 ปี ยังไม่พบการเสียชีวิต และเด็กเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อใหม่ดีกว่า

 

"ตอนนี้มีปัญหาถกเถียงกันว่าจะเปิดโรงเรียนได้ไหม ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น ล็อกดาวน์ทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียน สิงคโปร์ อเมริกา ก็บอกว่าต้องเปิด ที่เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนเพราะไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนใช้กับเด็กได้มีตัวเดียว คือ ไฟเซอร์ อายุ 12 ปี ขึ้นไป เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ที่จะบอกว่าผู้ใหญ่ฉีดได้เด็กก็ฉีดได้เหมือนกัน เพราะการตอบสนองและภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน อเมริกา ทดสอบไป 3,000 คนไม่มีปัญหา แต่พอฉีดเป็นแสนคนพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลายคน ทำให้เราต้องรอ" ศ.นพ.เกียรติคุณ ระบุ

 

ส่วนกรณีที่ไทยสั่งฉีดไฟเซอร์เด็กอายุเกิน 12 ปี อาจให้ฉีดวัคซีนที่มีการรับรอง และฉีดกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น เด็กมีอาการทางสมอง หัวใจ เบาหวาน อ้วน ซึ่งหลายประเทศไม่ฉีดเด็กที่ไม่มีความเสี่ยง สำหรับไทยเองก็ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย ควรฉีดผู้ใหญ่ให้ครบทุกคนก่อนเพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่สูงกว่าเด็ก 100 เท่า และถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากาก  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการที่เด็กไม่ไปโรงเรียนเสียหายมาก ทั้งการเรียนรู้ การออกกำลังกายและการเข้าสังคม และสุดท้ายสร้างปัญหาเด็กลาออกจากโรงเรียน สร้างความเหลื่อมล้ำมาก สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การหามาตรการรับมือเปิดเทอม โดยแนวการป้องกัน คือ 

 

1.ฉีดวัคซีนให้คนฉีดได้ ผู้ปครอง ครู คนในบ้าน เพราะหากผู้ใหญ่ไม่ติดเชื้อ เด็กก็ไม่ติดเชื้อ เพราะการฉีดวัคซีนให้เด็กอาจต้องรอบคอบ ในอนาคตจะมีมีวัคซีนที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่การใช้ฉุกเฉิน ถ้าไม่ฉุกเฉินรออีกสักพักก็อาจมีวัคซีนที่ปลอดภัยกว่าปัจจุบันออกมาต้นปีนี้   

 

2.เน้นการใส่หน้ากากทั้งที่บ้านและโรงเรียน รวมทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใครป่วยหรือมีประวัติสัมผัสต้องหยุดอยู่บ้าน ทำความสะอาดห้อง และควรมีการทดสอบเด็กเป็นระยะ ในช่วงที่ระบาดหนัก ส่วนที่ไม่ระบาดหนักอ าจตรวจเฉพาะคนมีอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเดียวทั้งประเทศ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น นักเรียนติดคนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน ซึ่งสร้างความเสียหายมาก อาจะให้หยุดกับคนที่สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยง 

 

"โรงเรียนควรเป็นที่ที่ปิดหลังสุด แต่กลับถูกปิดก่อน เพราะไปคิดเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั้งที่ปัญหาไม่เหมือนกัน  ซึ่งน่าเป็นห่วงเด็กที่ต้องหยุดในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา และพบว่าเด็กติดเกมเยอะมากช่วงนี้เรียนจอใหญ่ไปก็เล่นเกมจอเล็กไปด้วยถ้าไม่ดูให้ดีก็จะเป็นปัญหาจำเป็นต้องมาช่วยกันให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีรวมทั้งองค์การอนามัยโลก บอกว่ามีปัญหาเรื่องเด็กอ้วนเตี้ยซึ่งมาจากไม่ได้ออกกำลังกายอยู่แต่หน้าจอ อีกด้านก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามหาศาล อินเดียมีคนที่ไม่ได้เรียนสุดท้ายก็ออกไปหางานอนาคตก็แย่หมดไม่มีความรู้ ต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่จะตามมา" ศ.นพ.เกียรติคุณ กล่าว

ขณะที่ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวว่า นโยบายการเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 4 ล้านโดส ให้เด็ก 12-18 ปี ถือว่ามาถูกทาง เพราะว่าเดือนพ.ย. โรงเรียนจะเปิดอีกครั้ง คำถามเกิดขึ้นว่าเดือนก.ย.นี้ จะฉีดให้เด็กกลุ่มไหนก่อน ในมุมของสิทธิเด็ก เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีด แต่เด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มยากจน กลุ่มที่อยู่ในชุมชน ควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆเช่นกัน เพราะตอนนี้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่ครู 45% จะฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว จะทำถึง 70% ก่อนเปิดเทอมเดือนพ.ย.ได้ทันหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม หากเด็กไปโรงเรียนแล้วมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรเตรียมสถานที่พักคอยดูแล บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าพบเด็กติดเชื้อคนสองคน แล้วสั่งปิดโรงเรียนทันที ดังนั้น การมีสถานที่พักคอยจะทำให้แยกเด็กออกจากกัน และทำให้เด็กส่วนใหญ่ยังเรียนได้ปกติ ต้องมองว่าเปิดโลกการเรียนรู้บนฐานที่ปลอดภัยของสถานศึกษา บ้านพักเด็กทั่วประเทศ จะเป็นคำตอบสำคัญ สถานการณ์เด็กเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง ยากจน ยากจนพิเศษ ชายขอบ ยังไม่อยู่ในภาวะปกติและเสี่ยงมากๆ การฉีดวัคซีน การจ้างงานพ่อแม่ การมีอาสาสมัครไปช่วยเยียวยาจะทำให้เด็กฟื้นตัวดีขึ้น

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ปิดเรียนและเด็กต้องอยู่ในชุมชนแออัด ทำให้เกิดความเครียดสะสมแบบสามเส้า ทั้ง เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และ ครู ซึ่งจะทำอย่างไร กับความเครียดที่เด็กต้องเรียนรู้ใบงานมากมาย อยู่หน้าจอวันละ 7-8 ชม. แต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนออนไลน์ใบงานได้เป็นเรื่องที่น่าคิด อีกทั้ง เมื่อเปิดเทอม มีทั้งเด็กกำพร้า เด็กยากจนด้อยโอกาส และเด็กปกติที่เรียนด้วยกัน ครูจะมีวิธีการจัดการแนะแนวอย่างไร เยี่ยมบ้านเด็กอย่างไร หากไปเจอเด็กที่มีภาวะซึมเศร้า เกิดการสูญเสียจะประสานหน่วยงานไหนไปช่วยดูแล