svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

เตรียมสานต่อ“ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

แม่ฮ่องสอน -ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน เยี่ยมชมธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ที่บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง เตรียมสานต่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับธนาคารข้าวพระราชทานแห่งแรกให้แพร่หลายในวงกว้าง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายชนาธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ บ้านป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนายทวีวัฒน์ วิสิฏสิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋ และนายส่างลา ไพรมีค่า ผู้ใหญ่บ้านป่าแป๋ นำเยี่ยมชม “ธนาคารข้าวพระราชทานแห่งแรกของโลก” ชมต้นลิ้นจี่ที่สมเด็จย่า ทรงปลูกไว้ในโรงเรียนเจ้าพ่ออุปถัมภ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2518 ไหว้พระขอพร ที่วิหารไม้สักทอง สำนักสงฆ์บ้านป่าแป๋ ซึ่งสวยวิจิตรงดงามท่ามกลาง วิถีชาวพุทธบนดอย

เตรียมสานต่อ“ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

สำหรับบ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะหรือละว้า บ้านป่าแป๋ หมู่ที่ 3 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารข้าวแก่ราษฎรบ้านป่าแป๋ ที่เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค โดยทรงรับสั่งถึงการจัดตั้งธนาคารข้าวบ้านป่าแป๋ว่า “ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

เตรียมสานต่อ“ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาที่คุณต่อพสกนิกรชาวไทยและราษฎรชาวไทยภูเขาในถิ่นทุรกันดาร ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นคนไทยควรสำนึกและสืบทอดเจตนารมณ์ ด้วยการเป็นคนดีดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม เพื่อความผาสุกของชนหมู่มากในประเทศ รวมไปถึงการอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่า มิให้สูญหายก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ สานต่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับธนาคารข้าวพระราชทานแห่งแรกให้แพร่หลายในวงกว้างเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

เตรียมสานต่อ“ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

บ้านป่าแป๋ เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านยังดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ดั้งเดิม ชาวบ้านที่นี่เน้นปลูกผักพื้นบ้านของท้องถิ่นหลายชนิดเพื่อใช้ประกอบ สันนิษฐานได้ว่าหมู่บ้านป่าแป๋นี้ ก่อตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 500 ปี ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์เลอเวือะ หรือละว้ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาติพันธุ์ และยังคงดำรงวิถีชีวิตตามแบบอย่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมความเชื่อที่ปฏิบัติกันมาแต่ในอดีต

เตรียมสานต่อ“ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก”

 

โดย ทศพล บุญพัฒน์ / แม่ฮ่องสอน