svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จับตาโควิดสายพันธุ์มิว น่ากลัวจริงหรือไม่

03 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โควิดสายพันธุ์มิว กำลังเป็นที่จับตาของ WHO เพราะมีคุณสมบัติกลายพันธุ์ และอาจจะสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้ แล้วเราควรจะกังวลกับโควิดสายพันธุ์นี้หรือไม่ ติดตามได้จากรายงานของ คุณ ชาญชัย ประทีปวัฒนะวงศ์

โควิดสายพันธุ์มิวถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และก็ค่อยๆ แพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาใต้และยุโรป ซึ่งจนถึงตอนนี้ มีการยืนยันตรวจพบโควิดสายพันธุ์นี้ในประเทศทั่วโลก อย่างน้อย 39 ประเทศ ล่าสุดถูกตรวจเจอในญี่ปุ่น ซึ่งมีการยืนยันพบคนญี่ปุ่นคน 2 คนที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้

 

แม้อัตราการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์มิวจะค่อนข้างต่ำ คิดเป็นจำนวนเพียง 0.1% ของผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก แต่การแพร่ระบาดในโคลอมเบียและเอกวาดอร์กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในโคลอมเบีย พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวมากถึง 39% ส่วนเอกวาดอร์คิดเป็น 13% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด โดยข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าไวรัสตัวนี้ อาจมีความสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้ด้วยวิธีที่คล้ายกับไวรัสสายพันธุ์เบตา แต่นักวิจัยบอกว่าต้องใช้เวลาศึกษาให้มากกว่านี้เพื่อความชัดเจน

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงได้ประกาศให้โควิดสายพันธุ์มิว ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง หรือ Variant of Interest เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงว่าจะดื้อวัคซีนจากการกลายพันธุ์ แต่เราอาจจะยังไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้มากนัก เพราะปกติแล้ว ไวรัสทุกชนิดมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา และการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความร้ายแรงของไวรัส เว้นแต่ในบางกรณี ที่การกลายพันธุ์อาจทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น มีความรุนแรงขึ้น และดื้อต่อวัคซีนและยารักษา โดยปัจจุบัน มีโควิด 4 สายพันธุ์ที่ WHO จัดกลุ่มว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล คือ แอลฟา เบตา แกมมา และ เดลตา ส่วนสายพันธุ์มิว ยังอยู่แค่ในกลุ่มน่าจับตามอง

ในส่วนของประเทศไทย ตอนนี้ ยังไม่พบว่ามีใครที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว ส่วนประเทศใกล้เคียงประเทศไทยก็ยังไม่พบการติดเชื้อ ซึ่งการเฝ้าระวังก็ต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเป็นกังวลกับโควิดสายพันธุ์นี้มากเกินไปนัก เพราะยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจะมีความรุนแรงมากไปกว่า สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังเป็นปัญหาระบาดหนักทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

logoline