svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อย. เตือน นำใบกระท่อมมาแปรรูป ต้องขออนุญาต

02 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช็กให้ชัวร์ ก่อนนำพืช "กระท่อม" มาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น อาหาร ยา ต้องขออนุญาตกับ อย. ก่อนนำออกจำหน่าย

2 กันยายน 2564 นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการปลดล็อกพืช "กระท่อม" ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2564 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้

 

ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยินดีสนับสนุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

โดยกรณีที่มีการนำพืช กระท่อม มาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. เช่น ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

ขอให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตกับ อย. ก่อนการนำออกจำหน่าย

 

อย. มีหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และรายละเอียดในการขออนุญาตได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการยืนยันในเรื่องประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พืชกระท่อม เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา มีสารสำคัญที่เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อว่าสามารถลดอาการปวด ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า

 

อย่างไรก็ตาม การนำพืชกระท่อมมาบริโภคโดยตรงควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์การใช้ในชุมชน เช่น หมอพื้นบ้าน หรือบุคลากรทางสาธารณสุข เนื่องจากการรับประทานอย่างไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้

รู้จักพืชกระท่อม

พืชกระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) HaviL. เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae ถูกนำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านมานานหลายร้อยปีแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เป็นพืชที่พบมากทางใต้ของไทยไปจนถึงเขตชายแดน นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้าในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง

 

ขณะที่ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่นโดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

 

พืชกระท่อมที่พบในไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียก ท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียกไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียกโคดาม (Kodam)

 

แหล่งที่พบกระท่อมในไทยบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

 

อย. เตือน นำใบกระท่อมมาแปรรูป ต้องขออนุญาต

logoline