svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

01 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุตรดิตถ์ - ชาวสวนลับแลสืบสาน "ประเพณีดอยลางสาด" กว่า 100 ปี อุทิศส่วนกุศลให้ชาวสวนที่ล่วงลับผู้สร้างอาชีพให้ลูกหลาน ท่ามกลางมาตรการคุมเข้มโควิด-19

วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ศาลาวัดนานกกก  ต.นานกกก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พุทธศาสนิกชนชาวลับแล ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนผลไม้ลางสาด ลองกอง ต.นานกกก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลางสาดและลองกองมากที่สุดของ จ.อุตรดิตถ์และภาคเหนือ และผลผลิตกำลังเริ่มออกสู่ตลาด ชาวสวนพร้อมใจจัดเตรียมสำรับอาหารคาวหวาน และที่ขาดไม่ได้ คือ ลางสาดและลองกอง โดยชาวสวนจะคัดช่อที่สวย และดีที่สุดในสวน หอมหวานพร้อมรับประทานในฤดูกาลนี้ เพื่อจัดถวายพระสงฆ์ ตามประเพณีที่จัดสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวสวนลับแลคือ “ประเพณีดอยลางสาด” จะกำหนดจัดขึ้นช่วงที่เริ่มผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อทำบุญถวายเทวดา เจ้าที่พระแม่ธรณี และอุทิศส่วนกุศลชาวสวนที่ล่วงลับผู้สร้างอาชีพให้ลูกหลาน

 

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าปีนี้เกิดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชาวสวนยังคงพร้อมใจสืบสานประเพณีอันดีงามดังกล่าว แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ชาวสวนลับแลจึงนำผลผลิตลางสาด ลองกอง ส่งมอบให้กับคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลนานกกก เพื่อนำประกอบพิธีตามประเพณี โดยมีนายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอลับแล นางจินดารัตน์ เสริฐลือชา นายกกิ่งกาชาดอำเภอลับแล นายอาน แปลงดี นายกอบต.นานกกก และกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลนานกกก และตัวแทนชาวสวนไม่เกิน 50 คน เป็นตัวแทนเกษตรกรร่วมสืบสานประเพณีดอยลางสาด-ลองกอง ภายใต้มาตรการคุมเข้มโควิด-19

 

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

โดยกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลนานกกก ได้นำผลผลิตลางสาด ลองกอง ที่ชาวสวนมอบให้ จัดวางเป็นกองขนาดใหญ่ ให้สูงลักษณะคล้ายภูเขา หรือดอย นิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธีบุญทางศาสนา หลังจากพระสงฆ์ฉันท์อาหารและลางสาด ลองกองที่ญาติโยมถวายแล้ว ชาวสวนยังได้จัดผลผลิตมอบให้กับวัดต่างๆ พื้นที่ใกล้เคียง และจัดอีกส่วนขายให้พ่อค้าแม่ค้า เพื่อนำเงินสมทบบำรุงพระพุทธศาสนา

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

นายเกรียงศักดิ์ ทิพย์พรหม กรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลนานกกก กล่าวว่า ประเพณีดอยลางสาด เป็นประเพณีที่ชาวสวนลับแล จัดสืบทอดรุ่นต่อรุ่น มากกว่า 100 ปี ซึ่งบนดอยลับแลนอกจากจะปลูกทุเรียนหลง-หลินลับแลแล้ว ดั้งเดิมยังปลูกลางสาด เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่สร้างรายได้ให้ชาวสวน แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนยอดจากลางสาดเป็นลองกอง ประเพณีดอยลางสาด จึงเปลี่ยนตาม เป็นประเพณีดอยลองสาด-ลองกอง จะมีช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด หรือต้นฤดูกาล ชาวลับแล เชื่อว่าการทำบุญดอยลางสาด-ลองกอง และผลไม้จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการอุทิศส่วนกุศล ทำบุญถวายเทวดา เจ้าที่พระ แม่ธรณี เจ้ากรรมนายเวร บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับ เพื่อเป็นการสำนึกและตอบแทนบุญคุณที่ได้ริเริ่มปลูกลางสาด ลองกอง ไว้ให้แก่ลูกหลานในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ และกลายเป็นอาชีพให้กับลูกหลานชาวลับแลมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ทำบุญถวายผลไม้ที่ปลูก เชื่อว่าผลบุญจะทำให้พืชผลทางการเกษตรของอำเภอลับแลติดลูกติดผลดก ผลผลิต ราคาดี

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

อย่างไรก็ตาม สำหรับ จ.อุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกลางสาดและลองกอง ประมาณ 26,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 20,000 ตัน และ ออกสู่ตลาดข่วงเดือนสิงหาคม -พฤศจิกายน ผลผลิตปีนี้ เพิ่มกว่าปีที่ผ่านมาประมาณไร่ละ 200 กิโลกรัม จากไร่ละ 800 กิโลกรัมเป็น 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนราคา หากตัดช่อเกรดเอ กิโลกรัมละ 30 บาท และเกรดคละ กิโลกรัมละ 15 บาท

ชาวลับแลสืบสานกว่า100ปี "ประเพณีดอยลางสาด"

โดย บุญพิมพ์ ใบยา / อุตรดิตถ์

logoline