นักวิจัยชาวบราซิลพบว่าโมเลกุลในพิษของงูชนิดหนึ่ง สามารถยับยั้งการขยายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาในเซลล์ของลิงทดลอง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่เป็นไปได้ ในการเดินไปสู่ยาที่จะต่อสู้กับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ " Molecules " ในเดือนนี้ พบว่าโมเลกุลที่ผลิตโดยงูพิษสายพันธุ์ " จาราราคุสซู พิต ไวเปอร์ "สามารถยับยั้งความสามารถของไวรัสในการแบ่งตัวภายในเซลล์ของลิงทดลองได้ 75%
โมเลกุลนี้เป็นเปปไทด์หรือห่วงโซ่ของกรดอะมิโนที่สามารถเชื่อมต่อกับเอนไซม์ของไวรัสโคโรนาที่เรียกกันว่า PLPro ซึ่งมีความสำคัญต่อการแบ่งตัวของไวรัสโดยไม่ทำอันตรายต่อเซลล์อื่น ๆ
ราฟาเอล กิโด ซึ่งเป็นนักวิจัยในโครงการนี้ บอกในการให้สัมภาษณ์ว่า เปปไทด์ ที่เป็นที่รู้จักในด้านคุณสมบัติการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องจับ หรือเลี้ยงงู
ตามคำแถลงของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาโล (Unesp) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิจัย ระบุว่าในลำดับต่อไป นักวิจัยจะประเมินประสิทธิภาพของปริมาณโมเลกุลที่แตกต่างกัน และจะดูว่ามันสามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ตั้งแต่เริ่มแรกได้หรือไม่
พวกเขาหวังว่าจะดำเนินการทดสอบในเซลล์มนุษย์ด้วย แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน
งู " จาราราคุสซู " เป็นงูที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในบราซิล โดยมีความยาวถึง 2 เมตร มันอาศัยอยู่ในป่าริมชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และยังพบได้ในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา