svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดชีวิตคนไร้เสียง ขาดที่พึ่งฝ่าวิกฤตโควิด 19

31 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดชุมชนคนไร้เสียง อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแยกพระราม 9 ร่วมร้อยชีวิต กั้นพื้นที่แบ่งเป็นห้อง ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ถึง 26 คน กรรมการสมาคมคนหูหนวกฯ แจงปัญหาใหญ่ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจยาก ต้องใช้ล่ามแปลภาษาหลายคนกระทบหนัก เสียรายได้ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน

31 สิงหาคม 2564 วิกฤตโควิด19 ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบไปทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ยังคงมีอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการใช้ชีวิต และการได้รับความช่วยเหลือ เรามาติดตามดูความเหลื่อมล้ำในการสื่อสาร “กลุ่มคนเปราะบาง” ผู้พิการทางการได้ยิน ของชุมชนไร้เสียงแห่งนี้

 

น.ส.บุษบา โพธิ์นิ่มทอง ผู้เปรียบเสมือนเสียงให้กับผู้พิการทางการได้ยิน ในชุมชนคนไร้เสียง ที่อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแยกพระราม9 บอกว่า ทั้งพ่อและแม่ เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้เข้าใจ และยินดีให้การช่วยเหลือคนเหล่านี้โดยชุมชนคนไร้เสียงถูกสร้างขึ้นใต้สะพานข้ามแยกพระราม9 มีผู้พิการทางการได้ยินอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 60 คน กั้นพื้นที่ซอยเป็นห้องด้วยไม้อัดที่ถูกทิ้งแล้ว โดยมีถนนพระราม9เป็นหลังคากันฝน ด้วยความพิการทางการได้ยิน เสียงของรถวิ่งจึงไม่เป็นอุปสรรคในการพักผ่อน

 

เปิดชีวิตคนไร้เสียง ขาดที่พึ่งฝ่าวิกฤตโควิด 19

วิกฤตของชุมชนนี้  เมื่อมีคนติดเชื้อโควิด-19 มากถึง26คน เสียชีวิต1ราย ว่า ผู้พิการทางการได้ยินถึงแม้จะรับรู้ว่าเชื้อโควิด-19 คืออะไร แต่หลายคนยังไม่เข้าใจถึงความรุนแรงในการแพร่ระบาดเนื่องจากช่องว่างทางการสื่อสาร หรือบางคนจำเป็นที่จะต้องออกไปหาเงิน ทำให้มีการนำเชื้อเข้ามาในชุมชน จึงต้องประสานเจ้าหน้าที่ให้เข้ามา Swab ตรวจหาเชื้อ และประสานเข้าพักรักษาตัวใน รพ.สนาม จนทุกคนหายและกลับมาใช้ชีวิตปกติ

 

สิ่งที่สัมผัสได้และเปลี่ยนไป คือบรรยากาศในชุมชนมันมีแต่ความอัดอั้น ความหดหู่ ถึงแม้พวกเขาจะไม่สื่อสารผ่านทางเสียง แต่ทุกความรู้สึกมันออกมาทางสีหน้า และสายตา

 

นอกจากการสื่อสาร ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการรับสารของผู้พิการทางการได้ยินแล้ว กลุ่มเปราะบางทางสังคมกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ถูกจัดสรรให้ได้รับการฉีดวัคซีน ตามสวัสดิการที่ประชาชนควรจะได้รับ จนถึงตอนนี้คนในชุมชนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเหมือนคนอื่นบุคคลทั่วไป

 

เปิดชีวิตคนไร้เสียง ขาดที่พึ่งฝ่าวิกฤตโควิด 19
 

ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตหลังจากนี้ เปรียบเสมือนต้องปรับตัว อยู่กับโควิด 19 ให้ได้ เช่นเดียวกับกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ ที่พยายามดำรงชีวิตต่อภายใต้ข้อจำกัด สิ่งที่พวกเขาอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจบ้าง คือเรื่องสวัสดิการ และการสื่อสาร ที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เหมือนคนปกติทั่วไป

 

ขณะที่นายไพโรจน์ เจริญวิไลศิริ กรรมการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นการสื่อสารช่วงโควิด 19 สำหรับผู้พิการทางการได้ยินเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผู้พิการทางด้านนี้ สามารถรับข่าวสารทั่วไป ได้ทางสายตาเท่านั้น แต่ไม่ได้ยิน หรือแม้จะสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจ

 

ลำบากหากไม่มีล่ามแปลภาษา และด้วยข้อจำกัดด้านการสื่อสารทำให้การทำงานก็มีขอบเขต ที่จำกัดตามไปด้วย และยิ่งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แบบนี้ หลายคนต้องเสียรายได้ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ทำให้ต้องอาศัยผู้ใจดีนำอาหารมาแจกจ่าย
 

เปิดชีวิตคนไร้เสียง ขาดที่พึ่งฝ่าวิกฤตโควิด 19

logoline