svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"ลูกโหม่ง" อันตรายที่ไม่ธรรมดา

24 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับเป็นเรื่องช็อกความรู้สึกของแฟนบอลรุ่นเก่า หลัง "ราชาสตั๊ดเหินหาว" เดนนิส ลอว์ ตำนานนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เทอร์รี่ แม็คเดอร์ม็อตต์ อดีตแข้งคนสำคัญของลิเวอร์พูล ออกมาเปิดเผยว่าทั้งคู่กำลังต่อสู้กับโรคสมองเสื่อมอยู่ในเวลานี้

และที่น่าเศร้าก็คือ พวกเขาทั้งคู่ไม่ใช่นักเตะรายแรกๆที่ต้องเจอกับโรคสมองเสื่อม เพราะก่อนหน้านี้อดีตนักฟุตบอลชื่อดังหลายคน ได้ถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเตะชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 อย่าง เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน, น็อบบี้ สไตล์ส, มาร์ติน ปีเตอร์ส และ เรย์ วิลสัน ไปจนถึงตำนานของสโมสรลิเวอร์พูล อย่าง รอน เยตส์ และทอมมี่ สมิธ

 

ทำให้หลายคนสงสัยว่า เพราะเหตุใดบรรดานักฟุตบอลถึงมักเป็นโรคสมองเสื่อมในช่วงบั้นปลายของชีวิต

 

ปฐมบทของการสืบหาสาเหตุ

เจฟฟ์ แอสเทิล อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษและสโมสร เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ในยุคทศวรรษที่ 60 ได้เสียชีวิตลงในปี 2002 ด้วยวัยเพียง 59 ปี โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคสมองเสื่อมมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน และเมื่อมีการชันสูตรพลิกศพก็พบว่า อาการกระทบกระเทือนทางสมองที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการบาดเจ็บที่เล็กน้อย แต่เกิดขึ้นซ้ำๆมาตลอดหลายสิบปี จนกลายเป็นโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy-CTE) 

 

หลังจากนั้นก็มีนักวิจัยทำการศึกษากรณีแบบนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผลวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ของสหราชอาณาจักร พบว่า นักฟุตบอลอาชีพที่โหม่งบ่อยๆ ระหว่างแข่งขัน โดยเฉพาะลูกบอลที่มีน้ำหนักมาก มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อแก่ตัวลงมากกว่าคนทั่วๆ ไป ขณะที่ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระบุว่า อดีตนักฟุตบอลอาชีพมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อม มากกว่าคนปกติในช่วงอายุเดียวกันถึง 3 เท่าครึ่ง

"ลูกโหม่ง" อันตรายที่ไม่ธรรมดา

สมองบาดเจ็บได้อย่างไร

นพ. เบ็นเน็ต โอมาลู ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางสมอง และเป็นผู้ค้นพบโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (CTE) อธิบายว่า "สมองของมนุษย์ลอยอยู่ภายในกะโหลก ดังนั้นเมื่อโหม่งลูกฟุตบอล สมองจึงลอยตัวไปกระแทกกับกะโหลกด้านหลังจนทำให้เกิดรอยช้ำ การโหม่งแค่ไม่กี่ครั้ง อาการช้ำอาจหายไปได้เอง แต่หากต้องโหม่งลูกฟุตบอลทุกวัน ทุกสัปดาห์ นานนับสิบปี อาการบาดเจ็บก็อาจสะสมจนกลายเป็นอาการเรื้อรังได้”

 

นักวิจัยค้นพบคำตอบนี้โดยถ่ายภาพ MRI สมองของนักฟุตบอลหลายราย และประเมินจำนวนการโหม่งที่พวกเขาทำตลอดอาชีพนักฟุตบอล ก่อนนำไปเทียบกับกลุ่มอดีตนักกีฬาประเภทอื่นที่ไม่ต้องใช้ศีรษะในการเล่น ผลการศึกษาพบว่า ความหนาของเยื่อหุ้มสมองในตัวนักฟุตบอลมีความบางลงเมื่อเทียบกับคนเล่นกีฬาชนิดอื่น

 

อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กีฬาฟุตบอลส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เพราะอาการสมองเสื่อมนั้นมีสาเหตุค่อนข้างซับซ้อน และเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งอายุ ไลฟ์สไตล์ ยีน ฯลฯ จึงต้องอาศัยข้อมูลการศึกษามากกว่านี้ในอนาคตจึงจะสรุปได้ แต่จากผลการศึกษาเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับอาการบาดเจ็บทางสมองของนักกีฬากันได้แล้ว

"ลูกโหม่ง" อันตรายที่ไม่ธรรมดา

แนวทางป้องกัน

ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาประเภทเดียวที่มีการกระทบกระแทกที่ศีรษะ เพราะกีฬาอย่าง รักบี้ หรืออเมริกันฟุตบอล ก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน ซึ่งถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต่างก็ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยให้มีกฎที่ผู้ตัดสินจะต้องเป่าหยุดเกมทันทีหากพบว่ามีนักกีฬาบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีการออกกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปีโหม่งลูกฟุตบอล เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางสมอง โดยบังคับใช้กฎนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ก่อนที่ 3 สมาคมฟุตบอลของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ) จะบังคับใช้บ้างในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

 

อย่างไรก็ตามการใช้กฎดังกล่าวก็ยังมีหลายฝ่ายคัดค้าน เพราะกลัวว่าเมื่อโตขึ้นไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพแล้วจะมีปัญหา “โหม่งไม่เป็น” พร้อมเสนอว่า แทนที่จะห้ามการโหม่ง ให้ใช้วิธีลดความดันของลูกฟุตบอลลงในเวลาซ้อมโหม่ง เพื่อลดความกระทบกระเทือน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

"ลูกโหม่ง" อันตรายที่ไม่ธรรมดา

ล่าสุดนอกจากจะป้องกันอันตรายให้เด็กๆแล้ว ยังมีความพยายามในการลดความเสี่ยงให้นักฟุตบอลอาชีพในปัจจุบันด้วย โดยมีข้อเสนอให้ออกกฎให้นักเตะโหม่งบอลระหว่างการซ้อม ซึ่งมาจากระยะไกลกว่า 35 หลา ได้เพียงแค่ 10 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น และข้อเสนอนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากพรีเมียร์ลีก, สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ), สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ (พีเอฟเอ), ฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) รวมถึงสมาคมผู้จัดการทีม (แอลเอ็มเอ) เพื่อนำไปบังคับใช้ในการแข่งขันทุกระดับ ทั้งฟุตบอลชายและหญิง ลีกสมัครเล่นและในระดับเยาวชนด้วย เริ่มตั้งแต่ฤดูกาลนี้ (2021-22) เป็นต้นไป

 

แม้ทั้งหมดนี้คือความพยายามป้องกันอันตรายโดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน และต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี กว่าจะมีผลการศึกษาที่ยืนยันได้ว่า การลดการโหม่งระหว่างการซ้อม หรือการห้ามโหม่งเฉพาะในเด็ก จะลดความเสี่ยงในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทุกคนต่างเห็นความสำคัญร่วมกัน

 

และไม่แน่ อีก 50 ปีข้างหน้า “การโหม่ง” อาจกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในวงการลูกหนังอย่างถาวรก็เป็นได้

logoline