21 สิงหาคม 2564 ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายังสมาคมฯ ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียงดังและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยล่าสุดคือรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งได้ก่อปัญหามลพิษทางเสียง และความแรงสั่นสะเทือนรบกวนความเป็นอยู่ประชาชนผู้อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยระบุไว้ว่าได้มีการร้องเรียงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากกรณีดังกล่าวกรมการขนส่งทางรางขอเรียนชี้แจงว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟชานเมืองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้มีการดำเนินการออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรายงาน EIA ดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องเสียงและความสั่นสะเทือนให้มีค่าเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีการกำหนดให้ติดตั้งกำแพงกันเสียงในบริเวณที่มีชุมชนและพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน ที่อยู่ใกล้เคียงสองข้างทางรถไฟในขณะนั้น ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ปรากฎว่ามีการร้องเรียนในส่วนโครงข่ายระบบราง ในส่วนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบ ในสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสองและบางซื่อท่าพระ และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ แต่ปรากฎการร้องเรียนในสายสีเขียว เฉพาะช่วงบางนา-แบริ่ง และสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ในส่วนของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามที่ได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนนั้น ถือเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยรายงาน EIA ดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และต่อมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงาน EIA ในช่วงบางซื่อ-รังสิต เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. ได้เปิดให้บริการเดินรถอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพบว่า หลังจากมีการเดินรถไฟฟ้า มีประชาชนที่อยู่สองข้างทางรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้ร้องเรียนเรื่องเสียงมายังกรมการขนส่งทางราง (ขร.)
เพื่อเป็นการตรวจสอบประเด็นปัญหาและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมการขนส่งทางรางจึงได้ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าระดับเสียงในเบื้องต้นร่วมกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)
ผู้ให้บริการเดินรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ด้วยเครื่องมือตรวจวัด บริเวณนอกขบวนรถไฟฟ้าขณะวิ่งและที่บ้านประชาชนผู้ร้องเรียน เพื่อหาวิธีการลดผลกระทบจากเสียงการให้บริการเดินรถไฟฟ้าต่อประชาชน โดยการลงพื้นที่พบว่า มีบางจุดที่อาจมีค่าระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานที่ประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 พ.ศ.2540 เรื่อง การกำหนดระดับเสียงโดยทั่วไป โดย ขร. ได้หารือร่วมกับ รฟฟท. โดยมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
1. รฟฟท. ปรับแผนการฝึกซ้อมการเดินรถจากเดิมหลังสิ้นสุดการให้บริการจนถึงเวลา 04.00 น. เป็นฝึกซ้อมการเดินรถไม่เกินเวลา 24.00 น.
2. รฟฟท. กำชับให้พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าใช้แตรเฉพาะเท่าที่จำเป็น
3. รฟท. พิจารณาดำเนินการติดตั้งกำแพงกันเสียงบริเวณที่มีชุมชนใกล้เขตทางรถไฟ เพื่อลดผลกระทบทางเสียงให้กับประชาชน
4. รฟท. พิจารณาดำเนินการปิดทางลักผ่าน/ติดตั้งรั้วกั้นเพื่อป้องกันผู้บุกรุกเข้ามาในเขตการเดินรถ ซึ่งมีความเสี่ยงอันตรายต่อการเดินรถ และทำให้ต้องมีการใช้แตร
5. รฟท. และ รฟฟท. ดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงทางให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อลดผลกระทบทางเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางโค้ง
โดย ขร. จะได้ดำเนินการติดตามการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และขอยืนยันให้ได้ทราบว่าเมื่อปรับแก้ไขตามที่ระบุไว้แล้วนั้น จะไม่เกิดปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าขึ้นอีกแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนจากประชาชน เรื่องเสียงจากการเดินรถไฟฟ้าในเขตเมืองสายทางอื่นๆ ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อวัดค่าระดับเสียงและหาสาเหตุบริเวณที่มีค่าระดับเสียงเกินค่ามาตรฐาน โดยกรมการขนส่งทางรางได้ให้ข้อแนะนำกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อดำเนินการแก้ไขและลดระดับเสียงตามมาตรฐาน UIC ของ The International Union of Railways และมาตรฐานยุโรป (European Norm : EN) รวมทั้งดำเนินการตรวจวัดค่าระดับเสียงโดยสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้เป็นประจำ โดยต่อมาผู้ให้บริการเดินรถได้ดำเนินการเจียราง (Track Grinding) บริเวณทางโค้ง ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วระดับเสียงลดลงจนเป็นที่พอใจต่อประชาชนผู้ร้องเรียน โดยไม่มีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นอีก
ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางรางได้เตรียมพร้อมในการออกกฎหมายระดับรอง ว่าด้วยเรื่อง การควบคุมระดับเสียงและความสั่นสะเทือนของการขนส่งทางราง ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการระบบรางให้เป็นไปตามกฎหมายระดับรองดังกล่าวรวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง