svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

สสจ.นครพนมแจง เหตุรายงานตัวเลขติดเชื้อช้า ยันทำตามขั้นตอน

21 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครพนมเจอผู้ป่วยใหม่ 62 ราย แจงเคสผู้ติดเชื้อโควิดฯ พร้อมวางมาตรการป้องกันกลุ่ม บุคลากรการแพทย์-รถบรรทุก

ผู้สื่อข่าวได้รายงานคำชี้แจงของ นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ว่า  “วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 เวลา 08.35 น. ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนระบุว่า ชาวนครพนมฉงนใจ ผลโควิดรายวันอืดกว่าที่อื่น สื่อคุ้ยพบพยาบาลติดเชื้อ 1 ราย สามคนพ่อแม่ลูกจากพื้นที่สีแดงเข้มเจอป่วย เคสรถบรรทุกปูนป่วยยกครัว บุคลากรทางการแพทย์ถูกกักตัวเหตุปกปิดไทม์ไลน์นั้น นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า กรณีที่ระบุว่า “ผลโควิดรายวันอืดกว่าที่อื่น” นั้น จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้ปฏิบัติการในรูปคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) จังหวัดนครพนม 

 

ซึ่งประกอบด้วย 11 กลุ่มภารกิจ โดย 1 ในกลุ่มภารกิจต่าง ๆ คือ กลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team : SAT) มีอำนาจหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงที่เป็นภาวะฉุกเฉินอย่างใกล้ชิด รวบรวมจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด จัดทำสรุปรายงานสถานการณ์เป็นระยะ ร่วมกับกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และวิชาการ เสนอข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทางเลือกในการตัดสินใจต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์ เสนอข้อพิจารณาเพื่อการตัดสินใจ รวมถึงจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในขณะที่กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง มีหน้าที่เฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ทั้งข่าวจริงและข่าวลือ พร้อมประเมินการรับรู้ของสาธารณะเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแผนการสื่อสาร 


       
“นี่คือระบบที่คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจังหวัดนครพนมดำเนินการ โดยในทุกเช้าข้อมูลจะถูกนำเสนอผู้บริหาร เพื่อพิจารณาสั่งการ และจัดทำออกมาในรูปแบบ infographic ทั้งเพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม และส่งให้กับสื่อมวลชนเพื่อนำเสนอในเชิงข่าวต่อไป ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนถึงทุกวันนี้ โดยได้มีการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคในจังหวัดนครพนมทุกวัน บางวันจะส่งให้ก่อนการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ บางวันจะส่งให้หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม เนื่องจากในบางวาระต้องรอมติของที่ประชุมฯ และจะต้องเป็นข้อมูลที่แถลงข่าวโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ” นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ กล่าว


        
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนครพนม มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมารับการรักษาเริ่มลดลง แต่ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อในชุมชนและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพบผู้ติดเชื้อกลุ่มพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าไปต่างประเทศ และเชื่อมโยงชุมชน ซึ่งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการเป็น 2 ส่วน ในส่วนของ “บุคลากรทางการแพทย์” จัดให้มีระบบหมุนเวียนบุคลากร มีการสุ่มตรวจตามรอบและจัดให้มีการอบรมฝึกปฏิบัติ ในส่วนของ “รถบรรทุกสินค้า” ใช้มาตรการจุด Check Point และการสุ่มตรวจในลานจอด 

สสจ.นครพนมแจง เหตุรายงานตัวเลขติดเชื้อช้า ยันทำตามขั้นตอน
        

ในส่วนของกรณีเคสผู้ป่วยที่สื่อมวลชนอ้างว่าทราบจากแหล่งข่าวนั้น เคส Cluster รถขนปูนของสามีภรรยานั้น เป็นผู้ป่วยยืนยันฯ รายที่ 3,941 เพศหญิง อายุ 59 ปี อาชีพแม่บ้าน และรายที่ 3,942 เพศชาย อายุ 60 ปี อาชีพขับรถบรรทุก ภูมิลำเนาอำเภอท่าอุเทน วันที่ 1-6 สิงหาคม 2564 ภรรยาเดินทางไปทำงานส่งปูนกับสามีที่จังหวัดสระบุรี วันที่ 7 เดินทางกลับจังหวัดนครพนม วันที่ 8-10 สามีไปทำงานส่งปูน ส่วนภรรยาอยู่บ้านไม่ได้เดินทางไปไหน ภรรยาเริ่มมีอาการเหนื่อยเพลีย วันที่ 11 สามีพาภรรยาไปหาหมอที่คลินิกในอำเภอท่าอุเทน วันที่ 13 ภรรยาอยู่บ้าน ส่วนสามีเดินทางไปรับปูนที่ สปป.ลาว กลับถึงบ้านเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 14 อยู่บ้าน วันที่ 15 เริ่มมีอาการหอบเหนื่อย วันที่ 16 เวลา 09.00 น. สามีพาภรรยาไปหาหมอที่คลินิกในอำเภอท่าอุเทน หลังจากนั้นกลับบ้าน อาการไม่ดีขึ้น เวลา 17.00 น. เข้ารับการรักษาที่ รพ.ท่าอุเทน ได้รับการตรวจ ATK ภรรยาผลติดเชื้อ สามีผลไม่ติดเชื้อ โดยมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันหาเชื้อ COVID-19 ทั้ง 2 ราย และวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 00.15 น. ภรรยาส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.นครพนม โดยทราบผลตรวจพบเชื้อทั้ง 2 ราย จากปฏิบัติการตรวจเชิงรุกในชุมชน จำนวน 503 ราย ผลการตรวจไม่พบเชื้อ


        
กรณีบุคลากรทางการแพทย์ ที่ติดเชื้อในที่ทำงานโรงพยาบาลนครพนมนั้น วันที่ 1-4 สิงหาคม 2564 ปฏิบัติงานที่ Cohort ward รพ.นครพนม (ตึกพิเศษนำโชค) วันที่ 5 ตรวจ RT-PCR บุคลากรกลุ่มเสี่ยง ผลตรวจไม่พบเชื้อ วันที่ 6-7 ปฏิบัติงาน Cohort Ward รพ.นครพนม วันที่ 8 เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 Pfizer (เข็มที่ 1 Sinovac ฉีดวันที่ 21 เมษายน 2564) หลังจากนั้นปฏิบัติงาน Cohort Ward รพ.นครพนม (ตึกพิเศษนำโชค) วันที่ 9-13 ปฏิบัติงาน Cohort Ward รพ.นครพนม วันที่ 14-15 หยุดงานพักอยู่ที่บ้าน วันที่ 16-18 ปฏิบัติงาน Cohort Ward รพ.นครพนม และวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ตรวจ RT-PCR บุคลากรกลุ่มเสี่ยง เวลา 17.30 น. ทราบผลตรวจพบเชื้อ Covid-19 เข้ารับการรักษาที่ รพ.นครพนม จากการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้านและในสถานที่ทำงานจำนวน 18 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ


        
ส่วนกรณีผู้ป่วยเด็กเพศชาย อายุ 7 ปี กลับจากกรุงเทพมหานครพร้อมคุณแม่ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เข้ากักตัวในศูนย์พักคอยอำเภอเมืองนครพนม ผลการตรวจหาเชื้อครั้งแรกพบว่าแม่มีผลเป็นบวก จึงได้รับเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพนม ครอบครัวจึงรับตัวเด็กกลับไปกักตัวที่สถานที่กักตัวในชุมชนแต่เนื่องจากสถานที่กักตัวมีผู้กักตัวอยู่แล้วเต็มจำนวน จึงรับเด็กมากักตัวที่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำครั้งที่สองเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ตามกำหนดห้าวัน ผลการตรวจพบเชื้อ และมีคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กติดเชื้อเพิ่มอีก 1 คน จึงได้ทำการกักตัวผู้สัมผัสร่วมบ้านที่ไม่พบเชื้ออีก 14 วัน เพื่อรับการตรวจตามกำหนดอีกครั้งรายละเอียดอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

สสจ.นครพนมแจง เหตุรายงานตัวเลขติดเชื้อช้า ยันทำตามขั้นตอน
         

ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) จังหวัดนครพนม จะปฏิบัติงานในบทบาทและอำนาจหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และทันต่อสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งการดูแลพี่น้องประชาชนผู้ติดเชื้อที่ประสานขอเดินทางกลับมารับการรักษาที่บ้านเกิดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กรณีสื่อมวลชนต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ให้ติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team : SAT) โทร.08 1260 5777


       
อนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนครพนม วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 62 ราย เข้ารับการรักษา ที่ รพ.นครพนม 11 ราย รพ.ท่าอุเทน 10 ราย รพ.โพนสวรรค์ 10 ราย รพ.นาทม 6 ราย รพ.นาหว้า 6 ราย รพ.เรณูนคร 5 ราย รพ.ปลาปาก 5 ราย รพ.ศรีสงคราม 4 ราย รพร.ธาตุพนม 3 ราย รพ.บ้านแพง 1 ราย และโรงพยาบาลวังยาง 1 ราย”
 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากเคสที่เด็กชายวัย 7 ปีมากับพ่อแม่จากพื้นที่สีแดงเข้มคือจังหวัดสมุทรสาคร โดยทั้งหมดได้ไปรายงานตัวตามขั้นตอนที่ทางจังหวัดฯกำหนดไว้ ผลตรวจออกมาทั้งพ่อและแม่ติดเชื้อโควิด ส่วนเด็กผลยังเป็นลบจึงให้ไปอยู่กับยายที่มีอาชีพขายของในตลาดสดแห่งหนึ่ง นอกเขตเทศบาลเมืองนครพนม ต่อมาเด็กมีอาการไข้ก็ได้ตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 3 จึงพบว่ามีติดเชื้อ ได้มีการนำตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 9 รายตรวจค้นหาเชิงรุกพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย รวมทั้งหมด 4 ราย ส่วนที่เหลือรวมทั้งยายผลยังเป็นลบ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจะมีการปิดตลาดสดเป็นเวลา 3 วัน คือวันอาทิตย์-จันทร์-อังคาร (22-24 สค.64) เพื่อให้ทีมสาธารณสุขเข้าไปฉีดพ่อยาฆ่าเชื้อโรค

สสจ.นครพนมแจง เหตุรายงานตัวเลขติดเชื้อช้า ยันทำตามขั้นตอน

โดย - พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล

logoline