svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เกษตรฯ ตั้งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับเกษตรอินทรีย์

19 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ฝ่าวิกฤติโควิด กระทรวงเกษตรฯ ผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟ “สภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส” ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมครั้งแรกในประเทศไทย “อลงกรณ์” เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน

19 สิงหาคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน “สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส แห่งประเทศไทย” วันนี้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือ ยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากด้วยนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ คาดว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทวีมากขึ้น 

เกษตรฯ ตั้งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับเกษตรอินทรีย์
ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต (Future Food) ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้จัดให้มียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกระดับนโยบาย และมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้ 3 คณะทำงาน ได้แก่ คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน และคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ


ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564 จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งสิ้น 209 โครงการ เช่น โครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ 

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565 เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ รวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Urban Farming) และโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19 ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems : PGS) พร้อมกับจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส หรือ ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

เกษตรฯ ตั้งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับเกษตรอินทรีย์
“วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอสด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆ เช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย  ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พีจีเอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ 2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค” นายอลงกรณ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบ Sand Box Model ให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น โดยจะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ เชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมเกษตรอุตสาหกรรม 

ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center: NABC) ได้ทันทีและควรยึดหลัก “Zero Kilometer” คือ “ผลิตที่ไหนขายที่นั่น” จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศ ตาม 5 ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต, เทคโนโลยีเกษตร4.0, 3S (safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน, ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ คือ 1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564 2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564 3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60 และ 4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น


“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ต้องบูรณาการ 360 องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า (Setup Startup) ต่อด้วยการเชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด

เกษตรฯ ตั้งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับเกษตรอินทรีย์
สำหรับการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้ มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษมอบนโยบาย พร้อมด้วย นายสำราญ สารบรรณ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวรายงาน  ผ่านระบบ zoom meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน นอกจากนี้ยังมี นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรและอดีตอธิบดีกรมการข้าว นางจินตนา อินทรมงคล ผู้แทนมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้แทนสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย นายสมนึก ยอดดำเนิน จากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรอินทรีย์

logoline