svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

สตช.เผยผล"พีเพิลโพล" ประชาชนมั่นใจการป้องกันอาชญากรรมของตำรวจสูงขึ้น

19 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สตช. เผยผลสำรวจ "พีเพิลโพล" พบประชาชนเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของตำรวจสูงขึ้น ขณะอาชญากรรมที่ประชาชนหวาดกลัวมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลักทรัพย์ แก็งคอลเซ็นเตอร์ ชิงทรัพย์ การพนันออนไลน์ และทำร้ายร่างกาย

19 สิงหาคม 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการวิจัยเชิงสำรวจพีเพิลโพล (People Poll) ตามโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) สร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อลดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่สถานีตำรวจนำร่อง 15 สถานี ประกอบด้วย 

 

สน.ลุมพินี, สน.ห้วยขวาง, สน.ภาษีเจริญ, สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองlมุทรปราการ, สภ.เมืองพัทยา, สภ.เมืองระยอง, สภ.เมืองปราจีนบุรี, สภ.ปากช่อง, สภ.เมืองอุดรธานี, สภ.เมืองเชียงใหม่, สภ.เมืองพิษณุโลก, ส.ภ.เมืองราชบุรี, สภ.เมืองภูเก็ต และสภ.หาดใหญ่

 

ผลสำรวจพีเพิลโพล (People Poll) ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 - 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 2,462 ตัวอย่าง จำแนกเป็นเพศหญิง ร้อยละ 40.37 เพศชาย ร้อยละ 58.53 ช่วงอายุที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุด คือ ช่วงอายุระหว่าง 20 - 49 ปี หรือร้อยละ 78.19 ผลสำรวจในภาพรวม พบว่า... 

 

ประชาชนในพื้นที่โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 มีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำวจอยู่ในระดับที่สูงขึ้น หรือร้อยละ 73.02 ในขณะที่ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมีเพียงร้อยละ 46.86 เท่านั้น 

 

ส่วนประเภทอาชญากรรมที่ประชาชนหวาดกลัวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลักทรัพย์ แข็งคอลเซ็นเตอร์ ชิงทรัพย์ การพนันออนไลน์ และทำร้ายร่างกาย ตามลำดับ

 

สตช.เผยผล"พีเพิลโพล" ประชาชนมั่นใจการป้องกันอาชญากรรมของตำรวจสูงขึ้น

ทั้งนี้ สตช. มีการป้องกันอาชญากรรมและการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือ สมาร์ทเซฟตี้โซน พร้อมนำความคิดเห็นของประชาชนจากการทำพีเพิลโพล มาพัฒนาแนวทางการดำเนินโครงการ คัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์ค แหล่งเศรษฐกิจและพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน ให้เป็นรูปธรรม โดยได้ดำเนินการดังนี้..

 

  1. สำรวจกล้อง CCTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม
  2. นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น มีการติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น 
  3. ติดตั้งเสาสัญญาณ SOS เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที
  4. จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการและเอกชนมายังห้องปฏิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อคอยควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  5. ใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น POLICE 4.0 , POLICE I LERT U, Line OA รวมถึงการสร้าง Cyber Village เป็นต้น
  6. ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่รกร้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง เป็นต้น
  7. แสวงหาความร่วมมือจากภาคประ ชาชนและสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม

 

สตช.เผยผล"พีเพิลโพล" ประชาชนมั่นใจการป้องกันอาชญากรรมของตำรวจสูงขึ้น

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ได้แสดงถึงความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะในสภาวะที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับโควิด-19 ประชาชนมีความหวาดกลัวทั้งโรคระบาด และภัยอาชญากรรม จึงอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าพวกเราได้พัฒนาแนวทางการดำเนินงานโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน

 

ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เปิดเผยว่า โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชน เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ ช่วยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยของชุมชน การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนที่ดีขึ้นอีกด้วย

logoline