svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"เฮติ" กับวิกฤตการณ์ที่ไม่มีวันจบสิ้น

17 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เฮติความแรง 7.2 แมกนิจูด ในวันที่ 14 สิงหาคม 2021 ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตแล้ว 1,419 คน บาดเจ็บอีกร่วม 6,900 สูญหายอีกนับไม่ถ้วน แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งแรกของเฮติ และยิ่งไม่ใช่วิกฤตการณ์เดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ

สาธารณรัฐเฮติ เป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือแถบทะเลแคริบเบียน เมืองหลวงชื่อปอร์โตแปงซ์ มีพื้นที่ตั้งอยู่บนเกาะฮิสปันโยลา และอาณาเขตติดกับสาธารณรัฐโดมินิกัน ถือเป็นประเทศสาธารณรัฐนำโดยคนผิวดำแห่งแรกของโลก โดยปลดแอกตัวเองออกจากฝรั่งเศสได้สำเร็จในปี 1804


แต่อิสรภาพเหล่านั้นมีราคาที่ต้องจ่าย เฮติในขณะนั้นประชาชนมีสถานะเป็นทาสที่เพิ่งขอปลดแอก จึงถูกเรียกร้องค่าชดเชยให้กับอดีตเจ้าของทาสผู้สูญเสียผลประโยชน์เป็นจำนวนเงินมหาศาล และเพิ่งมาชำระได้หมดในปี 1947 นี่เอง

 

นั่นกลับไม่ใช่ปมปัญหาหลักอย่างเดียวของเฮติ เมื่อความจริงนี่คือประเทศที่เกิดปัญหารุมเร้าจากรอบด้าน

แผ่นดินไหวเฮติ ดินแดนแผ่นดินไหวนับแต่อดีตกาล
สภาพธรณีวิทยาของเฮติตั้งอยู่บนรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างแผ่นแคริเบียนกับแผ่นอเมริกาเหนือ ถือเป็นบริเวณเสี่ยงภัย เฮติและเมืองหลวงปอร์โตแปงซ์อยู่ในเขตพื้นที่รอยเลื่อนมีพลังอยู่ก่อน ทำให้นี่เป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง


นับแต่ก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา เฮติเกิดแผ่นดินไหวมากมาย แต่หากนับครั้งรุนแรงคงต้องพูดถึงปี 1842 จากการสั่นสะเทือนความแรงระดับ 8.1 แมกนิจูด ส่งผลกระทบร้ายแรงกับชายฝั่งทางเหนือของเฮติและบริเวณที่จะกลายเป็นประเทศโดมินิกัน แรงสั่นสะเทือนเผื่อแผ่ไปถึงคิวบา, จาเมกา, และเปอร์โตริโก คร่าไปกว่า 5,000 ชีวิต ตามด้วยสึนามิขนาด 5 เมตรถล่ม ทำผู้คนถูกพัดหายไปอีก 300 คน พร้อมเมืองทั้งเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง

 

อีกหนึ่งครั้งที่ถูกโจษจันคือวันที่ 12 มกราคม 2010 ด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด รุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปี โดยศูนย์กลางสั่นสะเทือนอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปเพียง 25 กิโลเมตร ประกอบสภาพภูมิประเทศเป็นดินอ่อน ทำให้เฮติได้รับความเสียหายร้ายแรง ยังไม่รวมกับอาฟเตอร์ช็อกอีกไม่ต่ำกว่า 52 ครั้งจนความเสียหายให้ยิ่งลุกลามบานปลาย


นานาชาติต่างเร่งระดมความช่วยเหลือแต่นั่นไม่มีทางเพียงพอในการชดเชยความเสียหาย ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีราว 300,000 คน บ้านเรือนนับแสนเสียหายอย่างหนักหรือถูกทำลายย่อยยับ ประชากรกว่า 1.5 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เป็นอัตราส่วนมากถึง 15% ของทั้งประเทศ ผลพวงจากเรื่องนั้นส่งผลมาถึงปี 2017 ผู้ได้รับผลกระทบอีก 37,867 คนยังคงไร้ที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับเด็กจำนวนมากยังไม่ได้ไปโรงเรียน


ภัยธรรมชาติร้ายแรงทิ้งบาดแผลให้ประเทศไว้มากพอ แต่นอกจากสภาพภูมิศาสตร์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งขึ้นชื่อทำให้เฮติไม่สามารถฟื้นฟูหรือพัฒนาได้ ยังเป็นปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองนับแต่ก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา

โฌเวแนล โมอิส อดีตประธานาธิบดีเฮติผู้ถูกลอบสังหาร แผลร้ายแรงของเฮติ - รัฐประหารและการเมือง
นับแต่ประกาศเอกราชเป็นต้นมาในปี 1804 เฮติก็เกิดรัฐประหารขึ้นมาหลายสิบครั้ง เริ่มจากผู้นำปลดแอกทาสแห่งเฮติตั้งตนเป็นจักรพรรดิเลียนแบบนโปเลียน สร้างความไม่พอใจจนมีการนำกองทัพเข้ามาใช้กับการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคม 1806 นับแต่นั้นเฮติก็แทบไม่มีโอกาสพบความสงบสุขอีกเลย


ช่วงเวลาสองร้อยปีนับจากนั้นเฮติผ่านรัฐประหารหลายครั้ง สารพัดปัญหาทางการเมืองหลายด้าน นับจากแค่ศตวรรษที่ 19 ก็เกิดการรัฐประหารกันไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 การเข้ามาของสหรัฐฯด้วยการส่งนาวิกโยธินเข้ายึดครอง แทรกแซงความขัดแย้งเพื่อปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์การลงทุนของสหรัฐฯเอง


แม้จะมีการเข้ามาจัดระเบียบวางรากฐานการปกครองจากต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ แต่การเข้ามาไม่ได้ช่วยเหลือ กลับซ้ำเติมปัญหาให้ร้ายแรง ด้วยการสนับสนุน ฟรังซัว ดูวาลิเย ผู้นำเผด็จการในปี 1957 ที่มีนโยบายขวาจัดสุดโต่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตลอดการบริหารงานไม่ช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นแต่อย่างใด


ผ่านเวลามายาวนานวงจรการรัฐประหารของเฮติไม่มีทีท่าจบลง ในที่สุดสหรัฐฯจึงตัดสินใจส่งกำลังทหาร 20,000 นายเข้าแทรกแซงอีกครั้งในปี 1994 และต้องส่งนาวิกโยธินมาอีกครั้งพร้อมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในปี 2004 เพื่อปราบกบฏรวมถึงรักษาความสงบในประเทศ แม้เพิ่งถอนตัวกลับไปในปี 2017 นี่เอง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่ายุติลง


จนล่าสุดความวุ่นวายทางการเมืองปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จากการเสียชีวิตของประธานาธิบดีคนล่าสุด โฌเวเนล โมอิส ที่ถูกลอบสังหารในวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ ด้วยประเทศตอนนี้ก็ไม่มีรัฐสภาประกอบกับตัวแทนที่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปก่อนแล้ว


นั่นทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองเฮติไม่มีทีท่าจะสงบลง ถึงขนาดต้องร้องขอสหรัฐฯและกองกำลังสหประชาชาติเข้าช่วยเหลือแต่ไม่มีทีท่าได้รับการตอบสนอง ซ้ำร้ายยังตามมาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ซ้ำอีก

แผ่นดินไหวเฮติ

 

แผ่นดินไหวซ้ำเติมสะเทือนทั้งประเทศ
ตั้งแต่แผ่นดินไหวใหญ่ปี 2010 เป็นต้นมาเฮติก็ไม่เคยฟื้นตัวกลับมาดังเดิม เศรษฐกิจและสังคมยังเหลือร่องรอยความเสียหาย ดังที่บอกไปว่าประชาชนได้รับผลกระทบบางส่วนไม่ได้ไปไหน ตึกราบ้านช่องยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากข้อขัดแย้งทางการเมือง 


ฝันร้ายก็เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 14 สิงหาคม 2021 กับแผ่นดินไหวขนาด 7.2 แมกนิจูด


แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นห่างเมืองแซงค์ – หลุยส์ไป 12 กิโลเมตร ลึกจากผิวดินไปเพียง 10 กิโลเมตรซึ่งถือเป็นระยะตื้นมาก ขณะที่เมืองหลวงปอร์โตแปงซ์อยู่ห่างไป 125 กิโลเมตร จึงไม่ได้รับความเสียหายเท่ากับแผ่นดินไหวเมื่อครั้งปี 2010 แต่ยังรับรู้แรงสั่นสะเทือน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างโดมินิกันและคิวบา

แผ่นดินไหวเฮติ
สำหรับตอนนี้สิ่งแรกที่นายกรัฐมนตรี อาริเยล อองรี ของเฮติทำคือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 เดือน และสั่งเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตจากซากปรักหักพังด้วยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ทางด้านสหรัฐฯเองก็เร่งให้ความช่วยเหลือด้านเสบียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นเดียวกับคิวบาส่งหมอเข้ามาช่วยเหลือเป็นจำนวนกว่า 250 คน


 คราวเคราะห์ของเฮติยังไม่หมดลงเมื่อประเมินจากสถานการณ์โควิดในประเทศ แม้ตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไม่สูงแต่นั่นอาจมาจากการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะสุขจากความยากจน อีกทั้งประชาชนเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ทได้มีเพียง 20% ในปี 2019 ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเฮติพึ่งเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2021 และพึ่งมีการแจกจ่ายวัคซีนไปเพียง 19,182 โดส จากประชากรทั้งประเทศกว่า 11 ล้านคน


ยากจะคาดเดาได้ว่าผลจากแผ่นดินไหวจะทำให้การระบาดของโควิดลุกลามไปถึงไหน นี่ยังไม่นับรวมพายุโซนร้อนเกรซกำลังจะพัดถล่มซ้ำเติมเฮติในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จนไม่อาจรู้ได้เลยว่าสภาพบ้านเรือนความเสียหาย และผู้คนที่บอบช้ำสาหัสจากแผ่นดินไหวต้องพบเจออะไรหลังจากนี้


แน่ใจแค่เพียงวิบากกรรมของประเทศที่ชื่อ "เฮติ" ยังห่างไกลจากคำว่าสิ้นสุดมากทีเดียว

"เฮติ" กับวิกฤตการณ์ที่ไม่มีวันจบสิ้น

logoline