svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ธปท.หนุนรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านพยุงศก.

17 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินโควิดรุนแรงยืดเยื้อเกินคาด แนะรัฐกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท อัดฉีดมาตรการทางการคลังพยุงเศรษฐกิจ ประเมินเศรษฐกิจไทยเจอ 4 อาการทำจีดีพีทรุดยาว 3 ปี

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ระบุ การรับมือสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาด โดยมาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้นั้น เห็นว่ามาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (โค-เพย์) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ธปท.ประเมินเม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของจีดีพี โดยการกู้เงินเพิ่มจะช่วยให้จีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีระยะยาวลดลงได้เร็วกว่ากรณีรัฐบาลไม่กู้เพิ่ม

“ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพี ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก”

ธปท.หนุนรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านพยุงศก.
 

ขณะที่ประเด็นอันดับเครดิตในกรณีที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นสูงนั้น จากรายงานขององค์กรผู้จัดอันดับเครดิตเรทติ้งปัจจุบันไม่กังวลเกี่ยวกับฐานะการคลังไทย แต่กังวลความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายหลังโควิด-19 รุนแรงและลากยาวกว่าที่ประเมินเอาไว้ในช่วงต้นปี 2564 สะท้อนผ่าน 4 อาการของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 

1.หลุมรายได้ขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท ในระบบเศรษฐกิจ โดยปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไป 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท ส่วนปี 2565 รายได้จากการจ้างงานหายไปอีก 8 แสนล้านบาท
 

2.การจ้างงานที่ถูกกระทบ สะท้อนจากข้อมูลการจ้างงานไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่าผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีการทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ผู้ว่างงานระยะยาวเกิน 1 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวมาอยู่ที่ 1.7 แสนคน ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน (นักศึกษาจบใหม่) อยู่ที่ 2.9 แสนคน และแรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาอยู่ที่ 1.6 ล้านคน

3.การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียม (K-shaped Recovery) สะท้อนจากภาคการส่งออกของไทยที่เติบโตสูง และสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 แต่ภาคการบริการและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ ธปท.ทยอยลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 0.7% จากต้นปีคาดว่าจะเติบโต 3%

4.ไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าในภูมิภาค เพราะพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชียที่ 11.5% ของจีดีพี โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี

logoline