svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผวา!! ขยะติดเชื้อพุ่ง 94% กรมอนามัยหวั่นตกค้างในชุมชน เหตุรถขนขยะมีไม่พอ

13 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขยะติดเชื้อสูงขึ้นเกือบเท่าตัว กรมอนามัย เผยปริมาณขยะมากถึง 294 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 94% ห่วงภาพรวมปัญหาขยะติดเชื้อตกค้าง เหตุยานพาหนะใช้ขนขยะติดเชื้อไม่เพียงพอ ขอความร่วมมืรพ.สนาม ศูนย์แยกกักชุมชน และศูนย์พักคอย คัดแยกขยะเพื่อง่ายต่อการนำไปกำจัด

12 สิงหาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ ขยะติดเชื้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบปริมาณขยะติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่า 294 ตันต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 94

 

ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทภาชนะบรรจุอาหาร เศษอาหาร ชุด PPE อุปกรณ์ฉีดวัคซีน และชุดตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งกำลังมีปัญหาในการเก็บขนไปกำจัด เนื่องจากหน่วยงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานและยานพาหนะที่ใช้เก็บขนขยะติดเชื้อมีไม่เพียงพอ ทำให้หลายจังหวัดมีปริมาณขยะติดเชื้อตกค้าง ณ แหล่งกำเนิดและสถานที่รับกำจัดจำนวนมาก เช่น พื้นที่นนทบุรี ระยอง เป็นต้น 


กรมอนามัย จึงได้จัดทำแนวทางการลดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม สถานที่แยกกัก  ซึ่งทางราชการกำหนด และศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ที่สามารถลดการเกิดขยะติดเชื้อ เช่น ไม่แจกกล่องโฟมใส่อาหาร หรือไม่แจกขวดน้ำบรรจุขวด แต่ติดตั้งจุดให้บริการน้ำดื่มแบบกด โดยให้ผู้ป่วยมีแก้วน้ำส่วนตัวมารับน้ำดื่มที่จุดบริการ และควรแยกขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ ออกก่อนนำเข้าไป ในอาคารผู้ป่วย เป็นต้น 

 

ผวา!! ขยะติดเชื้อพุ่ง 94% กรมอนามัยหวั่นตกค้างในชุมชน เหตุรถขนขยะมีไม่พอ

การคัดแยกขยะให้แยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้..

     1. ขยะติดเชื้อ ได้แก่  ขยะที่ปนเปื้อนหรือสงสัยจะปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกินแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ช้อน ส้อม แก้ว หลอด เป็นต้น และชุด PPE โดยให้รวบรวมใส่ถุงแดงไม่เกิน 2/3 ส่วน มัดปากให้แน่น และเก็บรวบรวมในถังขยะสีแดง

พร้อมกำหนดเวลาในการเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อจากห้องพักไปยังที่พักรวมขยะติดเชื้อที่แยกจากขยะประเภทอื่น และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้รับทำการเก็บขนขยะติดเชื้อ โดยให้ใช้รถขนขยะติดเชื้อเฉพาะเพื่อเก็บขนไปกำจัดด้วยวิธีที่ได้มาตรฐานตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดขยะติดเชื้อ พ.ศ. 2545

 

     2. ขยะทั่วไป ได้แก่ ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น  เศษกระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋องโลหะ ขวดแก้ว กล่องนม ขวดพลาสติก ถุงขนมบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ในแต่ละวัน   ให้รวบรวมและบรรจุขยะลงในถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บรวบรวมในถังขยะสีเขียวหรือน้ำเงิน และนำไปกำจัด ตามมาตรฐาน

 

     3. ขยะประเภทเศษอาหาร ให้คัดแยกขยะประเภทเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ รวบรวมใส่ภาชนะรองรับที่จัดไว้เฉพาะ จากนั้นนำไปหมักทำปุ๋ยต่อไป กระบวนการหมักที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและระยะเวลา สามารถทำลายเชื้อโรคได้ 

 

ผวา!! ขยะติดเชื้อพุ่ง 94% กรมอนามัยหวั่นตกค้างในชุมชน เหตุรถขนขยะมีไม่พอ

สำหรับการจัดการ เตียงสนามกระดาษ ที่ไม่ใช้งานแล้ว หรือชำรุดเสียหาย ให้ทำการฆ่าเชื้อโรค โดยการเช็ดถูด้วยน้ำยาหรือสารฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ และพักรอไว้ 1-2 วัน จากนั้นให้ถอดแยกชิ้นส่วน เก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายไปจุดพักรวม และประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป หรือให้ผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลมารับไปรีไซเคิล

logoline