svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตร.ขอ"ทหาร"ช่วยรับมือม็อบ ใครมีอำนาจสั่งเคลื่อนกำลัง

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงื่อนไขการที่ทหาร จะออกมาช่วยตำรวจ ตามหนังสือที่ผบ.ช.น. ส่งถึงกองทัพบก ขอสนับสนุนกำลังทหาร ให้มาช่วยปฏิบัติการ ตามประกาศของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้สั่งเคลื่อนกำลังทหาร ตามมาตรา 11(10) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตามที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้สัมภาษณ์ (7 ส.ค.64) ว่าที่ผ่านมา บช.น. ได้มีการส่งหนังสือถึงกองทัพบก ขอสนับสนุนกำลังทหาร ให้มาช่วยปฏิบัติการเพราะตามประกาศของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทหาร จัดเป็นหนึ่งในเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิตามกฎหมาย

 

และจากสถานการณ์การชุมนุม ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแดงก้าวหน้า 63 เมื่อวันที่ 7 สิงหา ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และการชุมนุมคาร์ม็อบ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 สิงหา พบว่า มีเหตุรุนแรง มีการใช้กระสุนจริง มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ถูกยิงด้วยกระสุนจริง ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย 

 

ล่าสุด วันนี้ (11 ส.ค.) ผบช.น.เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับการชุมนุม ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เตรียมจัดกิจกรรม "คาร์ม็อบ" ว่าจะพยายามรักษาแนวของตำรวจ ไม่เข้าปะทะ จนกว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าเข้าแนวของตำรวจ เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) ส่วนยุทธวิธี ยังคงใช้อาวุธแบบควบคุมฝูงชนที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แก๊สน้ำตา กระสุนยาง เช่นเดิมเหมือนทุกครั้ง

 

แต่ถ้าหากพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้กระสุนจริง หรือก่อการร้าย ก่อจราจล ตำรวจก็เตรียมปรับแผนยุทธวิธีไว้แล้วเช่นกัน โดยทหารเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว โดยตอนนี้ เป็นส่วนสนับสนุนการทำงานของตำรวจ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานรับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตรง แต่หากพบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะปรับแผนให้ทหาร มาร่วมปฎิบัติงานร่วมด้วย

"เนชั่นออนไลน์" พิจารณาเงื่อนไขการที่ทหาร จะออกมาช่วยตำรวจ ตามหนังสือที่ผบ.ช.น. ส่งถึงกองทัพบก ขอสนับสนุนกำลังทหาร ให้มาช่วยปฏิบัติการ ตามประกาศของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเงื่นไข ดังนี้

 

มาตรา 4  ในพระราชกำหนดนี้
“สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา 5  เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นและนายกรัฐมนตรี เห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในสามวัน หากมิได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด หรือคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง

 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

 

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบหรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

มาตรา 11 ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(10) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน  ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก

 

ดังนั้น ผู้ที่จะออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง จึงเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และจากการชุมนุม 7 สิงหา 10 สิงหา ไม่ปรากฎว่า มีทหารออกมาช่วยตำรวจ ควบคุมม็อบแต่อย่างใด 

logoline