svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จากเวียดนามสู่อัฟกานิสถาน "ประชาชน"คือคนรับกรรมในประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข่าวการถอนทหารสหรัฐฯออกจากอัฟกานิสถานสร้างแรงกระเพื่อมชัดเจน เห็นได้จากกลุ่มตาลีบันรุกคืบเข้าหาเมืองหลวง ประชาชนพากันอพยพออกจากประเทศไม่ก็ป้องกันตัวเองอย่างสิ้นหวัง เพราะพวกเขารู้ดีว่าคงไม่มีทางต่อต้านตาลีบันได้

นี่คือภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง ต่างกันเพียงสถานที่ ในคราวนี้เปลี่ยนจากเวียดนามเป็นอัฟกานิสถานเท่านั้นเอง

 

"สงครามเวียดนาม" ความพ่ายแพ้ครั้งแรกของสหรัฐฯ

 

ถ้าจะถามถึงความอัปยศของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นต้องมีสงครามเวียดนามอยู่ในลิสต์ กับการสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้เพื่อต่อต้านเวียดนามเหนือ ขีดเส้นกั้นเวียดนามออกเป็นสองส่วนด้วยกลัวว่าคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำ สหรัฐฯจึงส่งกำลังทหารเข้ามาอย่างต่อเนื่องนับแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

 

ตลอดช่วงเวลาสงคราม สหรัฐฯทุ่มเทกำลังเข้าโจมตีจากทุกด้าน นำเอาอาวุธร้ายแรงหลายชนิดมาใช้งาน ตั้งแต่ฝนเหลือง, ระเบิดฟอสฟอรัส และระเบิดนาปาล์ม สารพัดอาวุธร้ายทยอยกันปูพรม จำนวนระเบิดและกระสุนปืนใหญ่ที่ใช้งานมากถึง 14 ล้านตัน มากกว่าที่ถูกนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

สงครามเวียดนาม (1955-1975)

สหรัฐฯเข้าไปพัวพันในสงครามเวียดนามกินเวลานับสิบปี ผ่านประธานาธิบดี 4 คน กำลังทหารถูกส่งเข้าไปอีกร่วม 500,000 นาย พร้อมเม็ดเงินสนับสนุนด้านการทหารอีกกว่า 30,000 ล้านเหรียญต่อปี แต่ผลที่ได้กลับไม่ใกล้เคียงกับคำว่าชัยชนะแม้แต่นิดเดียวเมื่อทหารสหรัฐฯยังล้มตายอยู่ทุกวัน

 

ทางฝั่งเวียดนามเหนือด้วยความได้เปรียบด้านชัยภูมิ กับกองกำลังพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแทรกซึมบ่อนทำลายอย่าง "เวียดกง" อาศัยการรบแบบกองโจรไม่ยอมปะทะโดยตรง ทำลายขวัญกำลังใจทหารสหรัฐฯไม่ขาดสาย ยุทโธปกรณ์เหนือกว่าไม่ช่วยให้มหาอำนาจได้เปรียบ เพราะเวียดนามเหนือเองก็ได้รับการสนับสนุนทั้งจากโซเวียตและจีนเช่นกัน

 

ประกอบกับแรงเสียดทานภายในประเทศ นานวันผู้เสียชีวิตมีแต่เพิ่มขึ้น จำนวนทหารสหรัฐฯที่ตายในเวียดนามรวมทั้งสิ้น 58,281 คนและบาดเจ็บอีกนับแสน ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามนำไปสู่การประท้วงจนประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องถอนกำลังทหาร ยอมรับความพ่ายแพ้จากสงครามครั้งนี้ในที่สุด

ชาวอเมริกันประท้วงสงครามเวียดนามหน้าทำเนียบขาว

การจากไปของสหรัฐฯและผลกระทบนับจากนั้น

 

การเจรจาสันติภาพในปารีสเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 1968 แต่การเจรจาสงบศึกของเวียดนามกับสหรัฐฯก็กินเวลาหลายปี เปลี่ยนผ่านยุคสมัยประธานาธิบดีจาก ลินดอน บี. จอห์นสัน สู่ ริชาร์ด นิกสัน แต่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงหาข้อสรุปหรือเงื่อนไขที่น่าพอใจ ทำให้การเจรจายืดเยื้อ ติดขัด ส่อแววล้มเหลวอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการแสดงออกของฝั่งเวียดนามเหนือ

 

ตลอดช่วงเวลาระหว่างการพูดคุย ความพยายามบุกโจมตีจากเวียดนามเหนือยังคงไม่ลดละ มีการยกพลกว่า 60,000 คน เข้าโอบล้อมรุกคืบเวียดนามใต้ และจัดตั้งรัฐบาลเวียดกงขึ้นมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 1972 ทำให้สหรัฐฯส่งเครื่องบิน B-15 จำนวน 500 ลำเข้าทิ้งระเบิดทำลายจุดยุทธศาสตร์กับที่มั่นทางการทหารของเวียดนามเหนืออย่างต่อเนื่อง ความพยายามในการเจรจาตลอดปี 1972 ไม่เป็นผลท่ามกลางการจู่โจมทางอากาศอันดุเดือด จนในที่สุดสหรัฐฯจึงยื่นคำขาด บีบให้เวียดนามเหนือหันเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้สำเร็จ

 

วันที่ได้ข้อสรุปคือ 27 มกราคม 1973 โดยให้ยุติการสู้รบภายในเวียดนาม คืนตัวเชลยชาวอเมริกัน และสหรัฐฯจะดำเนินการถอนกำลังทหารทั้งหมดใน 60 วัน เช่นเดียวกับชาติพันธมิตรที่ถอยออกมาตามกัน

 

เมื่อขาดการสนับสนุน รัฐบาลเวียดนามใต้ที่ไม่เคยสร้างเสถียรภาพทางการเมืองด้วยตัวเองได้จึงเพลี่ยงพล้ำ คำประกาศหยุดยิงดำเนินไปไม่นาน ที่สุดรัฐบาลเวียดนามใต้ยื้อต่อไปไม่อยู่ เมืองหลวงอย่าง "ไซ่ง่อน" ถูกตีแตกในวันที่ 30 เมษายน 1975 และปีต่อมาสองประเทศก็กลับมาเป็นปึกแผ่นภายใต้ร่มธงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

ภายหลังการตัดสินใจถอนตัวเป็นทางการของสหรัฐฯ ย่อมตามมาด้วยความโกลาหลในเวียดนามใต้ คนที่พอหลบหนีออกจากประเทศได้มีเพียงคนมีเงินมีฐานะ ฝูงชนจำนวนมากกรูกันเข้าไปหาสถานทูตสหรัฐฯหวังขอโดยสารเพื่อหลบหนีไปด้วย ถ้าโชคร้ายหรือยากจนกว่านั้น ทางเลือกที่พวกเขาเหลือคือเรือ ไม่สนชนิดของเรือว่าจะเป็นเรือประมงหรือหรือเรือใบขนาดเล็ก ผู้คนจำนวนมากหาทางอพยพหลีกหนีภัยที่ย่างกรายมาถึงตัวกันจ้าละหวั่นจนเกิดเป็น “เรือมนุษย์”

"เรือมนุษย์" ภายในปี 1975-1995 มีเรือมนุษย์ออกมาจากเวียดนามกระจายตัวไปทั่วทั้งอาเซียนไปจนถึงฮ่องกงกว่า 800,000 คน  และอีกจำนวนมากไปไม่ถึงฝั่ง มีทั้งอับปางจากความแออัด, เผชิญกับโจรสลัด, ถูกพายุพัดถล่ม ไปจนอดตาย ผู้โดยสารมากมายเสียชีวิตกลางทางโดย UNHCR คะเนตัวเลขไว้ที่ 200,000-400,000 คน

นี่คือส่วนหนึ่งจากผลกระทบในการถอนตัวเข้าช่วยเหลือด้านกำลังทหารของสหรัฐฯที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอัฟกานิสถาน

 

อัฟกานิสถานกับสุญญากาศทางอำนาจ

 

เหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในปี 2001 คือสาเหตุในการบุกโจมตีอัฟกานิสถานและคงกำลังไว้เรื่อยมาของสหรัฐฯ มาวันนี้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ กำหนดเส้นตายในวันที่ 11 กันยายน 2564 โดยไม่สนเสียงคัดค้านจากผู้นำเหล่าทัพ ลดบทบาทสหรัฐฯไปเป็นผู้ช่วยเจรจาสันติภาพกับตาลีบันเท่านั้น

 

แต่เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดในอัฟกานิสถานตอนนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับสงครามเวียดนามเลย หลังประกาศหยุดยิงและถอนกำลังของสหรัฐฯ ตาลีบันไม่มีทีท่าอยากเจรจา ตั้งแต่การบุกยึดพื้นที่ใกล้เมืองหลวงในเขตเนิร์คห์ก่อนช่วงเวลาประกาศหยุดยิงจะมาถึง เช่นเดียวกับการรุกคืบของกองกำลังเข้าปะทะทหารอัฟกันทำให้ต้องทิ้งเมือง เหตุวินาศภัยเกิดขึ้นไม่ขาดสาย รวมถึงการบุกโจมตีต่อเนื่องทำให้กองกำลังรัฐบาลเสียพื้นที่ไปมากมาย

 

ยังคงมีความพยายามต่อต้านจากรัฐบาลอัฟกานิสถานเอง ทั้งร่วมมือกับกองกำลังท้องถิ่นหรือเกณฑ์ทหารเข้าต่อต้าน แต่กลับดูเป็นการดิ้นรนอย่างสิ้นหวังเมื่อข่าวตาลีบันได้รับชัยชนะดังขึ้นทั่วสารทิศ นั่นคือการนับถอยหลังให้กองกำลังกลุ่มนี้ขึ้นมาครองประเทศ และเรื่องยิ่งเลวร้ายเมื่อตาลีบันมีมหามิตรเข้ามาในพื้นที่อย่างจีน

 

การเข้ามาของจีนไม่ได้มีจุดหมายที่ค้าขายยุทโธปกรณ์แต่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเป็นการสร้างทางรถไฟมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระยะทางกว่า 573 กิโลเมตร ผ่านทาชเคนท์-คาบูล-เปชาวาร์ เชื่อมต่ออุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน และปากีสถานเข้าด้วยกัน ยิ่งช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ตาลีบันมากขึ้น เพราะจีนเองก็คงไม่ยอมให้เงินทุนมหาศาลของตนสูญเปล่า

 

คาดเดาได้ยากว่าการปกครองของตาลีบันจะนำอัฟกานิสถานไปสู่ทิศทางไหน ด้วยนโยบายสุดโต่งศาสนาที่เคยใช้มาแล้วในอดีตเมื่อครั้งเรืองอำนาจ หรือการเข้ามาในคราวนี้อาจทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ นำพาความเจริญด้วยการลงทุนจากมหาอำนาจอย่างจีน เปิดเส้นทางใหม่ให้แก่อัฟกานิสถานก็เป็นได้

 

แต่นั่นเป็นเรื่องในอนาคต

ชาวอัฟกันเร่งอพยพข้ามชายแดนสู่ปากีสถาน-ตุรกี

ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือประชาชนอัฟกานิสถานพากันหนีตาย ไม่ต้องการอยู่ใต้การปกครองของตาลีบันที่ผู้คนในพื้นที่พากันบอกว่าไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน หลบหนีจากรัฐศาสนาเข้มข้นคอยลิดรอนเสรีภาพโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ในปี 2020 ผู้ลี้ภัยมากถึง 2.6 ล้านคน และคาดว่าปีนี้จะมีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาแค่ในตุรกีประเทศเดียวอีกนับล้าน

 

ทุกอย่างดูเลวร้าย โดยเฉพาะความรู้สึกของชาวอัฟกันผู้ต่อสู้กับตาลีบัน ที่กำลังรู้สึกว่า 20 ปีของพวกเขากำลังไร้ค่า

logoline