svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

5 นักกีฬา "ที่สุด" แห่งโอลิมปิก 2020

08 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จบลงไปแล้วกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าจะต้องจัดแข่งโดยมีมาตรการคุมเข้มในการสกัดโควิด-19 จนหลายๆสนามต้องแข่งกันท่ามกลางอัฒจันทร์ที่ว่างเปล่า แต่ความเข้มข้นของการแข่งขันกลับไม่ได้ลดน้อยลงไปแม้แต่นิด

และนี่คือ 5 เรื่องราวที่มีความเป็น "ที่สุด" ของโอลิมปิกครั้งนี้ ที่ทีมงาน "เนชั่น ออนไลน์" ขอย้อนให้ได้นึกถึงกันอีกครั้ง

เคเลบ เดรสเซล

ประสบความสำเร็จที่สุด: เคเลบ เดรสเซล (สหรัฐฯ)

ก่อนแข่ง ใครๆก็ทราบดีว่า เคเลบ เดรสเซล คือผู้สืบทอดตำแหน่งราชาของวงการว่ายน้ำต่อจากตำนานอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส แต่ใครจะคิดว่าเขาจะคว้าเหรียญทองพร้อมทำลายสถิติเป็นว่าเล่นแบบนี้ 

 

เดรสเซล คว้าเหรียญทองได้มากที่สุดในบรรดานักว่ายน้ำชายทั้งหมดที่เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้ ทั้งประเภทบุคคล ฟรีสไตล์ 50 เมตร (21.07 วินาที, สถิติโอลิมปิก), ฟรีสไตล์ 100 เมตร (47.02 วินาที, สถิติโอลิมปิก), ผีเสื้อ 100 เมตร (49.45 วินาที,สถิติโลก) และประเภททีม ผลัดฟรีสไตล์ 4x100 เมตร(3:08.97 นาที) และ ผลัดผสม 4x100 เมตร(3:26.78 นาที, สถิติโลก) 

 

มีใครให้มากกว่านี้อีกมั๊ย?

เชอริคก้า แจ็คสัน

น่าตำหนิที่สุด: เชอริคก้า แจ็คสัน (จาเมกา)

เชอริคก้า แจ็คสัน ลมกรดชาวจาเมกา เพิ่งจะสร้างชื่อด้วยการคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรหญิงมาหมาดๆ 

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันรอบคัดเลือก วิ่ง 200 เมตรหญิง แจ็คสัน กลับทำพลาดมหันต์ด้วยการผ่อนฝีเท้าในช่วงก่อนเข้าเส้นชัยจนแทบจะกลายเป็นการวิ่งจ็อกกิ้ง เป็นเหตุให้คู่แข่งแซงเข้าเส้นชัยไป และเมื่อสรุปเวลาของทั้ง 25 คนที่ผ่านเข้ารอบเซมิไฟนอล ปรากฏว่า แจ็คสัน ต้องตกรอบไปอย่างน่าเจ็บใจ เนื่องจาก ดาเลีย คัดดารี่ จากอิตาลี ที่เข้าเส้นชัยก่อนเธอ มีสถิติดีกว่าแค่ 0.004 วินาทีเท่านั้น

 

อย่างน้อยนับจากนี้มั่นใจได้เลยว่า เธอจะไม่มีวันลืมนิทานเรื่อง "กระต่ายกับเต่า" อีกต่อไป

 

ไอแดน วอลช์

ซวยที่สุด: ไอแดน วอลช์ (ไอร์แลนด์)

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับการแข่งขัน ผู้แพ้ย่อมเสียใจ ผู้ชนะย่อมดีใจ

 

แต่ดีใจมากไป ความเศร้าก็มาเยือนได้เหมือนกัน

 

ศึกมวยสากลรุ่นเวลเตอร์เวต 69 กก.ชาย รอบก่อนรองชนะเลิศ ไอแดน วอลช์ กำปั้นชาวไอริชวัย 24 ปี ดวลกับ เมอร์เวน แคลร์ นักมวยจากมอริเชียส ซึ่งเมื่อครบ 3 ยก กรรมการชูมือให้ วอลช์ ชนะไป 4-1 เสียง ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศพร้อมการันตีเหรียญทองแดงได้สำเร็จ

 

แต่วินาทีที่ได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะ วอลช์ก็กระโดดดีใจแบบสุดเหวี่ยงจนข้อเท้าพลิกจากการลงพื้นผิดจังหวะ เล่นเอาต้องเดินกะเผลกออกจากสนาม และหลังจากเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด แพทย์ของทีมไอร์แลนด์ลงความเห็นว่าเขาอยู่ในสภาพที่ไม่ควรขึ้นชกในรอบต่อไป ทำให้ วอลช์ ต้องถอนตัวจากรอบตัดเชือก และจบการแข่งขันครั้งนี้ด้วยเหรียญทองแดงอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มีโอกาสไปได้ไกลกว่านั้น 

 

ถ้าไม่เรียกซวยก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาค็อบส์
เซอร์ไพรส์ที่สุด: ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาค็อบส์ (อิตาลี)

ก่อนเริ่มโอลิมปิก มีใครรู้จักชื่อของ "ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาค็อบส์" บ้าง? บอกได้เลยว่าแทบไม่มีหากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ระดับฮาร์ดคอร์ของวงการกรีฑาจริงๆ

 

การแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย ถูกจับตาอยู่เสมอในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และครั้งนี้ยิ่งน่าสนใจกว่าเดิม เพราะศึกครั้งนี้คือการหาผู้สืบทอดบัลลังก์ต่อจาก ยูเซน โบลท์ ลมกรดชาวจาเมกาที่อำลาวงการไป

 

ซึ่งก่อนแข่ง ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชื่อของ อ็องเดร เดอ กราสส์ (แคนาดา), โยฮัน เบลค (จาเมกา) หรือแม้กระทั่ง เฟร็ด เคอร์ลี่ย์ (สหรัฐฯ) แต่สุดท้าย กลับกลายเป็น ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาค็อบส์ ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ด้วยเวลา 9.80 วินาที ชนิดที่บรรดาสื่อต่างต้องรีบเสิร์ชข้อมูลหาประวัติกันจ้าละหวั่นว่าหมอนี่เป็นใคร

 

ทาซ เอสซา บาร์ชีม - จานมาร์โก ทัมเบรี ประทับใจที่สุด: ทาซ เอสซา บาร์ชีม (กาตาร์) และ จานมาร์โก ทัมเบรี (อิตาลี)

 

จากประเภทกีฬาที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ กลายเป็นการแข่งขันที่ผู้ชมทั่วโลกต้องปรบมือให้

 

ศึกชิงชัยประเภทกระโดดสูงโอลิมปิกเกมส์ 2020 ต้องดวลกันแบบมาราธอนนานกว่า 2 ชั่วโมง กว่าจะเหลือนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุด 2 คน คือ ทาซ เอสซา บาร์ชีม (กาตาร์) และ จานมาร์โก ทัมเบรี (อิตาลี) ที่มาแย่งชิงความเป็นหนึ่งกัน

 

ที่สำคัญทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกันเสียด้วย 

 

โดยทั้งคู่ทำสถิติได้ 2.37 เมตรเท่ากัน จากผลงานกระโดดไม่พลาดแม้แต่ครั้งเดียว ทว่าไม่สามารถกระโดดผ่านความสูง 2.39 เมตรเพื่อหาผู้ชนะหนึ่งเดียวได้ ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันเสนอตัวเลือกให้แข่งต่อแบบ "จัมพ์ออฟ" วัดกันครั้งต่อครั้ง แต่ บาร์ชีม ถามกรรมการกลับว่า “เราทั้ง 2 คน สามารถครองเหรียญทองร่วมกันได้ไหม?” ซึ่งกรรมการบอกว่าทำได้หากนักกีฬาทั้ง 2 ยินยอม

 

ก็ทำไมที่ 1 ถึงจะมี 2 คนไม่ได้ล่ะ?

 

แล้วพบกันใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า กับ "ปารีส 2024" ซึ่งหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น มหันตภัย โควิด-19 จะหมดไปแล้วเสียที

logoline