svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ถอดบทเรียน “ม็อบบุกวัง” สุดท้ายปลายทางคือเรือนจำ 

07 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับตาการชุมนุมกลุ่มราษฎร เตรียมเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าพระบรมมหาราชวัง เราจะมาย้อนบทเรียนครั้งเก่า ซึ่งตอนสุดท้ายคงหนีไม่พ้นถูกดำเนินคดี

7 สิงหาคม 2564 กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่หลายฝ่ายต้องจับตามองเป็นพิเศษ การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" 

 

กลุ่มหลักที่เริ่มมีบทบาทในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะ และสามารถสร้างความฮือฮาตั้งแต่ครั้งแรกของการชุมนุมเมื่อช่วงสิงหาคม 2563 กับข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ชูประเด็นปฏิรูปสถาบันเป็นหลัก แม้ปัจจุบันข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าว จะมีเพียง 3 ข้อหลักคือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ต้องลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย...ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของสถาบัน

 

ตั้งแต่ช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมาช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มราษฎร และเครือข่ายได้เริ่มประชาสัมพันธ์การเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ว่า จุดมุ่งหมายคือการตรงไปยังพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งแกนนำหลักเองก็ได้ประกาศย้ำชัดว่าการมุ่งหน้าไปยังปลายทางเป็นการต่อสู้เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง โจทย์หนักที่ตั้งไว้จะสามารถบรรลุเป้าหมายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงและถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ต้องย้อนกลับมาถอดบทเรียน วันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเป็นตัวตัดสิน

บทเรียนที่ไม่เคยถอด

 

จุดหมายปลายทางการชุมนุมทางการเมืองที่ยึดเอาพื้นที่สนามหลวงเป็นเป้าหลัก ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ต้องมองย้อนถึงอดีตที่ผ่านมาหลายสิบปี แต่เพียงเหลียวกลับไปมองช่วงต้นปี 2564 ก็จะพบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เมื่อลุ่มรีเดม (REDEM) นัดหมายมวลชนตั้งแต่ 17 มี.ค. 2564 ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก Free YOUTH ว่าในวันที่ 20 มี.ค.2564 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.00 น. จะพบกันที่บริเวณสนามหลวง ไม่มีรูปแบบกิจกรรม ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีแกนนำ เปิดกว้างให้มวลชนทำทุกสิ่งได้ตามใจจนท้ายที่สุดวันนั้นก็หนีไม่พ้นความรุนแรง

 

เหตุการณ์ความรุนแรง ที่ก่อมาจากความวุ่นวายตั้งแต่ช่วงเวลา18.45 น.เมื่อมวลชนบางส่วนพยายามรื้อแนวตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามหีบเพลงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นขวางไว้บริเวณท้องสนามหลวง จนตู้คอนเทนเนอร์ด้านบนตกลงออกมา 1 ตู้ และต่อมาเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง กลุ่มมวลชนได้ดึงตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างที่เหลือออกเพื่อเปิดทางขยายพื้นที่การชุมนุม จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มนับถอยหลังให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำทั้งหมด ก่อนที่จะใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่บริเวณนั้น 

 

จนกระทั่งเวลา 19.34 น.ความชุลมุนก่อตัวขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน เคลื่อนกำลังออกมาจากบริเวณแนวกั้นตู้คอนเทนเนอร์ เวลานั้นมีการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนได้ เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มยืดเยื้อและตึงเครียดเมื่อฝั่งมวลชนเองมีการขว้างปาสิ่งของ ตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่เริ่มยกระดับการกระชับพื้นที่ด้วยการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา เหตุการณ์ทั้งหมดมาสิ้นสุดในเวลา 22.05 น. ขณะนั้นพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุม ฝั่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้กระจายแนวกำลังบริเวณโดยรอบรวมถึงซอกซอยต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตามจากการชุมนุม 20 มีนาคมทางศูนย์เอราวัณ ได้สรุปรายงานข้อมูลผู้เจ็บป่วย ในเวลา 23.00 น.ในพื้นที่การชุมนุม ถ.ราชดำเนิน ที่นำส่งโรงพยาบาล รวม 19 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 11 นาย ประชาชน 8 คน ในจำนวนนี้มีสื่อมวลชน โดยมีการแยกผู้ป่วยไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลใกล้เคียง

 

ฉะนั้นแล้วการชุมนุมที่ใกล้จะถึงนี้ จึงมีหลายส่วนที่กังวลใจว่าภาพความรุนแรงและวุ่นวายจะวนกลับมาอีกครั้งเหมือนหนังเรื่องเดิมที่เริ่มและจบในจุดเดียวกัน แม้แต่มวลชน แฟนคลับที่ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลักก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งยอมรับว่ากังวลที่การเดินเกมแบบนี้ไม่ต่างกับการมุ่งตรงไปปะทะ ไม่ได้แสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง และบางส่วนก็เรียกหาความชัดเจนกับผู้จัดกิจกรรมให้วางแผนรับมือความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น หาทางออกหรือเตรียมแผนสำรองไว้ในหลายทางที่อาจจะเกิดขึ้น

ห่วงหน้า อย่าลืมพะวงหลัง

 

ตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฎรที่ประกอบไปด้วยหลายกลุ่มย่อย (เครือข่าย) มีแกนนำมากมายที่ต้องรับผลจากการกระทำนั้นผ่านการดำเนินคดีทางกฎหมาย ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องหา และต้องใช้เวลาในเรือนจำ แม้ตอนนี้เหล่าแกนนำจากกลุ่มต่างๆจะได้รับการประกันตัวแล้วแต่ทุกคนล้วนแล้วต้องมีข้อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพนั้นคือ เงื่อนไขการประกัน 

 

โดยหลักแล้วแกนนำแทบจะทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถูกผูกติดด้วยเงื่อนไข 4 ข้อคือ ห้ามกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นใน บ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาลและต้องมาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

 

หลายครั้งที่ตัวแกนนำเอง หรือตัวแทนทางกฎหมายจะอ้างสิทธิการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน 

 

แต่ท้ายที่สุดเหล่าแกนนำเหล่านั้น ก็ยังหนีไม่พ้นตกเป็นผู้ต้องหาจากพฤติการณ์ต่างๆในการแสดงออกทางการเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ม.112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ม.116 ยุยงปลุกปั่น ประชาชนสร้างความเดือดร้อน ม.136 ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ม.198 ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ม.206 ดูหมิ่นวัตถุหรือสถานที่เคารพทางศาสนา ม.215 ม.216 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย ม.326 ดูหมิ่นประมาท ม.328 ดูหมิ่นประมาทผ่านสื่อ ม.393 ดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือผ่านสื่อ และยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 2 ข้อหาที่เพิ่มเติมคือ มาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ โดยข้อกฎหมายทั้งหมดมีโทษถึงขั้นจำคุก 

 

ดังนั้นปลายทางของการเคลื่อนไหวคงหนีไม่พ้นเรือนจำ หากเจ้าหน้าที่มีการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด

logoline