svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

สุดทึ่ง!!เกษตรกรไอเดียเจ๋งขายขนุนต้นละครึ่งแสน

06 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พบเกษตรกรเจ้าของสวนประดับพันธุ์ไม้ ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ใช้วิธีทาบกิ่งลอยอากาศขนุนและไม้ผล ไม้เศรษฐกิจขาย แม่พันธุ์ต้นละ 500 กิ่ง รวมทั้งต้นสร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจนปลดหนี้ได้ แถมช่วยคนในชุมชนมีงานทำในรูปแบบเกษตรแบ่งปัน

สุดทึ่ง!!เกษตรกรไอเดียเจ๋งขายขนุนต้นละครึ่งแสน

      เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 นายมนัส เสียงก้อง ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จ.อุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ติดตามการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรช่วงการระบาดโควิด-19 ที่สวนประดับพันธุ์ไม้ ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ของนายประดับ ปิ่นนาค  ที่ใช้แนวคิด เทคนิค หลักการบริหารจัดการ สร้างงาน สร้างรายได้ จากที่ดินมรดก 4 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรกว่า 500 ไร่ และยังให้คนในชุมชน ครอบครัวผู้ยากไร้ คนพิการ ได้มีงานทำ ห่างไกลโควิด-19 ในรูปแบบ “เกษตรแบ่งปัน”อีกด้วย

 

สุดทึ่ง!!เกษตรกรไอเดียเจ๋งขายขนุนต้นละครึ่งแสน

       นายประดับ ได้พาชมในส่วนของแปลงขนุน หลากหลายายพันธุ์ และยังใจดีอนุญาตให้เพื่อนบ้าน ตัดลูกขนุนไปทานได้ฟรี ไม่ขาย ไม่หวง แต่จะหวงต้นพันธุ์ เพราะแต่ละต้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท โดยไม่ต้องเป็นขนุนใบด่าง เนื่องจากทุกกิ่ง ที่แตกขยายออกมาเป็นพุ่ม นายประดับ จะทำการ “ทาบกิ่งลอยอากาศ” ขนุนแต่ละต้นจะห้อยโหนอยู่กลางอากาศ เชือกผูกระโยงรยางค์ และทำนั่งร้านค้ำต้นไว้ ไม่ให้หัก กลายเป็น ต้นไม้ประหลาด ใครเห็นก็ต้องหยุดมองและสอบถาม

        นายประดับ กล่าวว่า ต้นขนุนหลากหลายสายพันธุ์ ที่ในแปลง ทุกต้นจะเป็นแม่พันธุ์ เทคนิค คือ นำเมล็ดขนุนพันธุ์พื้นเมืองเพาะ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนต่อโรค เพาะในถุงพลาสติกเพื่อเป็นต้นพ่อพันธุ์ 1 ต้น 1 ถุง จนลำต้นสูงราว 50 เซนติเมตร นำมา ทาบกิ่ง กับกิ่งขนุนพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการ หรือจากต้นแม่พันธุ์ ลักษณะ ทาบกิ่งลอยอากาศ ประมาณ 45 วัน จะมีราก สามารถตัดไปอนุบาล เป็นต้นพันธุ์ก็จะแข็งแรงดี ขายให้ลูกค้าได้ ขนุนแม่พันธุ์ 1 ต้น ทาบได้ประมาณ 500 กิ่ง ราคาเริ่มต้น 100-150 บาท ตามอายุของการอนุบาล ดังนั้นขนุน 1 ต้น มูลค่าประมาณ 5 หมื่นบาท ในแปลงมีประมาณ 20 ต้น ทาบเพียงปีละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ต้นโทรม หมุนเวียนกันไป นอกจากนี้ยังมี มะขาม มังคุด และ ไม้ผลพืชเศรษฐกิจ ที่ขยายพันธุ์ด้วยการ ทาบกิ่ง ในแปลงกว่า 500 ไร่มีครบ ซึ่งมูลค่าก็ไม่แตกต่างกัน เช่นมะขามฟักใหญ่ 1 ต้นได้ประมาณ 400 กิ่ง มังคุด 300 กิ่ง เป็นต้น

 

สุดทึ่ง!!เกษตรกรไอเดียเจ๋งขายขนุนต้นละครึ่งแสน

           “ตนเป็นลูกเกษตรกร รับมรดกที่นา 4 ไร่ เพราะเดิมปลูกข้าวประสบปัญหา รอน้ำฝน ราคาขึ้นอยู่กับพ่อค้า จึงหันมาเพาะกล้าพืชผักขาย มีรายได้วันละ 300 บาท จึงมองเห็นช่องทาง จุดเริ่มต้นขยายพันธุ์ไม้ผลต่างๆ และพบว่า ที่ดินข้างเคียงเป็นบ่อดินลูกรัง ทำการเกษตรไม่ได้ เจ้าของปล่อยทิ้ง จึงค่อยๆเก็บเงินซื้อไว้ นำมาปรับเป็นแปลงขยายพันธุ์ไม้ จาก 100 ไร่ เป็น 200 ไร่ ล่าสุด 500 ไร่ ขยายพันธุ์ทั้งไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ ไม้ป่า ไม่หายากทุกชนิด มากกว่า 100 สายพันธุ์ ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านต้น สามารถปลดหนี้ได้ โดยยึดการทำ เกษตรแบ่งปัน คือ คนในชุมชน คนยากจน พิการ หรือไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ 

             สำหรับคนที่มีความตั้งใจ จะจัดสรรที่ให้ ครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 1 ไร่ เพื่อดูแล บำรุงแปลงขยายพันธุ์ไม้ ลงทุนแรงงาน ทั้ง เสียบยอด เปลี่ยนยอด เลี้ยงดู รวมทั้งการอนุบาลต้นกล้า ส่วนเงินลงทุนตนจัดการให้ เมื่อขายกล้าไม้ได้ คนลงแรงได้ 60 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขาย เช่น ขายได้ 50,000 บาท  ลูกไร่ได้ 30.000 บาท เราอาศัยแรงงานจากเขา เขาอาศัยทุนและการตลาดจากเรา เพราะลำพังให้เราทำคนเดียวไม่มีทางทำไหว ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และไม่เคยหวง เราอยู่ได้ พอมีพอกิน แบ่งปันสังคม” นายประดับกล่าว

 

สุดทึ่ง!!เกษตรกรไอเดียเจ๋งขายขนุนต้นละครึ่งแสน

               นายมนัส เสียงก้อง ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า สวนประดับพันธุ์ไม้ เกษตรกรต้นแบบ ซึ่งเป็นเจ้าของ “ห้างสรรพสินค้ากล้าไม้” ศูนย์กลางตลาดพันธุ์ไม้ของ จ.อุตรดิตถ์ และแหล่งจำหน่ายพันธุ์ไม้ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของภาคเหนือ ซึ่งการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้ผล เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับผลกระทบ หมดปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ยังมียอดขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาให้ความสนใจในการปลูกพืช เพื่อบริโภคและขายมากยิ่งขึ้น โดยนายประดับ ได้มีการสอนให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการมีอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมทั้งสอนเคล็ดลับการดูแลต้นไม้จนบางรายสามารถเปิดร้านเพาะพันธุ์กล้าไม้เป็นของตัวเอง สร้างและพัฒนาคนให้มีอาชีพ มีงานทำ เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยการเพาะพันธุ์กล้าไม้ยังคงเป็นอาชีพที่มีความต้องการและอยู่รอดได้ในทุกๆวิกฤต

ภาพ/ข่าว บุญพิมพ์ ใบยา 

logoline