svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

05 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชียงใหม่ – ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.แม่ริม เปิดร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ให้เป็นที่ฝึกอาชีพและแสดงศักยภาพของผู้พิการทางการได้ยิน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เป้าหมายเปลี่ยนคนพิการจากภาระให้เป็นพลัง ชูจุดเด่น “ร้านกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด แต่ส่งมอบความสุขเสียงดังมาก”

           เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จะพาไปที่ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ร้านกาแฟที่บาริสต้าเงียบที่สุด เราจะไม่ได้ยินเสียงของบาริสต้าเลยตลอดระยะเวลาที่นั่งอยู่ในร้าน ไม่เพียงแต่บาริสต้าเท่านั้น ที่นี่ก็ยังขายก๋วยเตี๋ยวเรือ แต่ก็จะไม่ได้ยินเสียงของเสียง ถือว่าเป็นร้านที่่เงียบที่สุดเท่าที่เคยไปทานอาหารมา เพราะที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ตั้งอยู่ที่ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมาย เปลี่ยนคนพิการจากภาระให้เป็นพลัง ด้วยการให้โอกาสผู้พิการได้ฝึกอาชีพ และแสดงศักยภาพ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยให้ปฏิบัติงานจริงทุกขั้น ทั้งงานขาย งานต้อนรับ งานบริการลูกค้า

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

                 ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม สะอาด ร่มรื่น อาหารขึ้นชื่อของทางร้าน คือก๋วยเตี๋ยวเรือ น้ำซุปเข้มข้นอร่อยจนไม่ต้องปรุงเพิ่ม ไฮไลท์สำคัญของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ คือการชงกาแฟของบาริสต้าที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นเราจะไม่ได้ยินเสียงทักทายจากบาริสต้าเหมือนร้านกาแฟทั่วไป จึงมีสโลแกนประจำร้านว่า “ร้านกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด แต่ส่งมอบความสุขเสียงดังมาก” พนักงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ทั้งบาริสต้าและพนักงานเสริฟ

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

                 น.ส.บัวจี อินปาน ผู้จัดการร้านยิ้มสู้คาเฟ่ เล่าให้ฟังว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อการฝึกอบรมให้กับกลุ่มผู้พิการทุกประเภท ที่ทางศูนย์ฝึกอาชีพดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องต้องหยุดชะงักลง จึงได้คิดเปิดร้านยิ้มสู้คาเฟ่ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ผู้พิการมีรายได้ โดยการสนับสนุนมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซึ่งเปิดร้านยิ้มสู้สาขาแรกที่กรุงเทพฯ และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงวางแผนที่จะเปิดสาขาที่เชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาแต่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการ จนได้เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ2เดือนที่ผ่านมา

 

                 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มีบ้านพักและที่ทำงานอยู่ใกล้กับร้าน เนื่องจากร้านยิ้มสู้เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการไม่นาน จึงยังไม่เป็นที่รู้จัก ประกอบกับช่วงนี้เชียงใหม่ยังพบผู้ติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็ต้องเปิดร้านเพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสฝึกอาชีพและที่รายได้

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

               สำหรับบาริสต้าสาวน้อยของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ เป็นผู้พิการทางการได้ยิน บอกผ่านล่ามภาษามือว่า รู้สึกดีและมีความสุข ที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในร้าน ทำให้มีรายได้ไม่เป็นภาระของครอบครัว ต้องขอบคุณร้านยิ้มสู้ที่ให้โอกาสได้เข้ามาฝึกอาชีพ ในอนาคตหากมีความชำนาญแล้ว อยากจะเปิดร้านเป็นของตัวเอง

            ขณะที่นายภาวิน ฟักตั้ง ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน บอกว่า นอกจากที่ศูนย์ฝึกอบรมจะเปิดร้านยิ้มสู้คาเฟ่ขึ้นมาเพื่อให้ผู้พิการเข้ามาฝึกอาชีพแล้ว ภายในศูนย์ยังจัดพื้นที่เป็นฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แพ็คส่งแม็คโคร นอกจากนั้นยังเพาะถั่วงอกเพื่อนำไปใช้ทำก๋วยเตี๋ยวเรือ สินค้าประเภทพืชผักที่ปลูกในศูนย์ฝึกอาชีพ จะถูกนำไปวางจำหน่ายภายในร้านยิ้มสู้คาเฟ่อีกทางหนึ่ง

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

             นอกจากนั้นยังมีแผนทำพื้นที่บริเวณรอบร้านยิ้มสู้ให้เป็นจุดเช็คอิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกนอกจากจะเข้ามารับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของร้านอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมทุ่งดอกไม้เป็นจำนวนมาก จึงหวังว่าหากสถานการณ์โควิดคลี่คลายนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง

“ยิ้มสู้คาเฟ่”ชวนชิมกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด

            สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้ามาชิมก๋วยเตี๋ยวเรือ และ กาแฟ ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 095-8304040 หรือติดตามทางเพจเฟซบุ๊ก “Yimsoo Farm at Mae Rim ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอแม่ริม” เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.30 -16.00 น. ช่วงนี้ร้านจัดโปรโมชั่นทานก๋วยเตี๋ยวรับส่วนลดค่าเครื่องดื่ม 10 บาท จึงขอเชิญชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกำลังใจให้ผู้พิการได้ฝึกอาชีพและไม่เป็นภาระของครอบครัว

 

logoline