svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ก้าวไกล-เพื่อไทย เปิดศึกกันเอง ก่อนยื่นซักฟอกรัฐบาล

04 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ช่วงที่กำลังต้องการรวมพลังกันทำงานใหญ่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการทำแคมเปญโฆษณาว่าจะเป็นการยื่นอภิปรายครั้งสุดท้าย (นัยว่ารัฐบาลถึงจุดจบ) 

รอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ต้นสายปลายเหตุเกิดจาก กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ลงมติให้นำงบประมาณ 16,362 ล้านบาทที่ปรับลดมาจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธที่ยังไม่มีความจำเป็น / ไปเพิ่มในงบกลางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่าย โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด-19

ประเด็นก็คือ กรรมาธิการฯจากพรรคเพื่อไทย ร่วมโหวตสนับสนุนด้วย ทั้งๆ ที่ผู้เสนอคือ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ กรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้พรรคก้าวไกล เรียงหน้าออกมาคัดค้าน และบางคนตั้งคำถามแรงว่า มีการรับงานอะไรกันมาหรือเปล่า 


ข้อกล่าวหาแรงขนาดนี้ ร้อนไปถึงพรรคเพื่อไทย เล่นเอานั่งไม่ติด ต้องส่งขุนพลคนดังออกมาโต้กลับ 

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะกรรมาธิการงบฯ ในซีกของเพื่อไทย อธิบายว่า กองทัพเรือขอถอนการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไป เพราะต้องการจะนำเงินในส่วนนั้นไปช่วยแก้ไขปัญหาโควิด  ขณะที่ทุกหน่วยงานที่ยอมปรับลดงบ ก็เพื่อนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาโควิด ฉะนั้นการที่พรรคเพื่อไทยยกมือเพิ่มงบประมาณที่ปรับลดนั้น นำไปให้กับ “งบกลาง” ซึ่งเขียนวัตถุประสงค์ของการใช้เงินไว้อย่างชัดเจนว่า “เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ถามว่า พรรคเพื่อไทยผิดอะไร แถมยังตอกกลับพรรคก้าวไกล ว่า อย่าพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

ยุทธพงศ์ ถามกลับไปว่า การที่พรรคเพื่อไทย ไปยกมือให้นำเงิน 16,362 ล้านบาทไปเยียวยาช่วยเหลือคนที่เป็นโควิด-19 ถามว่าผิดอย่างไร และทำไมต้องเป็นงบกลาง ที่เขาบอกว่าเป็นเหมือนเช็คเปล่าเอาไปให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ผมถามว่าวันนี้คนนอนดิ้นรอความตายอยู่ข้างถนน เพราะไม่มีคนไปช่วย คนอดยากอยู่แถวชายหาดพัทยา รอคิวเป็นแถวเพื่อรออาหาร รอวัคซีน รอถังออกซิเจน และรอความตาย ผมถามว่าถ้าไม่เอางบกลางที่ใช้ง่าย เพราะระเบียบในการเบิกจ่ายรวดเร็วควรใช้ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน คุณจะไปผ่านกระบวนการงบประมาณหรือ เพราะชีวิตคนรอไม่ได้ นี่คือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคก้าวไกลจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิ์  ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการช่วยเหลือชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญ และเงินงบกลางส่วนนี้จะใช้ได้เฉพาะเรื่องโควิดเท่านั้น

ถามว่านายกฯจะเอาไปซื้ออาวุธหรือรถถังได้หรืออย่างไร ดังนั้น พรรคก้าวไกลอย่าพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น คำสำทับสุดท้ายจากยุทธพงศ์ จรัสเสถียร 

นอกจากประเด็นหลักที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทยออกมาชี้แจง และยังมีประเด็นเล็กๆ อื่นๆ ที่ถูกพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตด้วย ดังนี้ 

1.ไม่เหมาะสมโอนงบที่ตัดไปใส่งบกลาง เพราะนายกฯ มีอำนาจใช้คนเดียว

(คำชี้แจง ได้เขียนกำกับไว้ชัดเจนว่าจะต้องนำไปใช้แก้โควิดเท่านั้น ใช้อย่างอื่นไม่ได้)

2.เป็นการเพิ่มเงินในมือนายกฯ เพิ่มอำนาจการจ่ายให้นายกฯเพียงคนเดียว

(คำชี้แจงว่า ปัญหารอไม่ได้ เข้ากระบวนการเบิกจ่ายปกติยิ่งช้า คนกำลังจะตาย ไม่ควรต้องรอ)

3.ทำไมไม่จัดสรรให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ช่วยแก้โควิด

(คำชี้แจงว่า ท้องถิ่นไม่โปร่งใส อย่าลืมเรื่องเสาไฟกินรี) 

4.พรรคเพื่อไทยรับงานพลังประชารัฐหรือไม่ 

(คำชี้แจงว่า ไม่มีรับงาน ข่าวที่ว่าจะไปร่วมรัฐบาลก็ไม่เป็นความจริง) 

งานนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะรุ่นใหญ่อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม CARE ผู้ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเขียนข้อความอธิบายไว้แบบนี้

“การเสนอรวมทรัพยากรไปให้ผู้มีหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีปัญหาเราคงต้องมาเล่นงานคนที่บกพร่องกันอีกครั้ง (หมายถึงนายกฯ ถ้านำงบกลางไปใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่โควิด ก็ต้องมาเช็คบิลกัน) ฉะนั้นไม่อยากให้เอา "การเมือง" มาใช้จน เป็นอุปสรรคที่ขวางความพยายามช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ขอเสนอข้อคิดให้...ผู้หวังดีต่อบ้านเมือง...

มีกันไม่มากนัก พยายามสงวนข้อแตกต่าง และร่วมมือกันให้มากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า อย่าให้ความยึดมั่นของตน ป็นอุปสรรค ทำลายความร่วมมือกันของภาคประชาชนเลย เพราะ "หนทางข้างหน้า ยังอีกยาวไกล”...”

มหากาพย์ขัดแย้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ใครต้นเหตุ? 

สำหรับการทำงานร่วมกันของพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล หรือพรรคอนาคตใหม่เดิม มีปัญหาขัดแย้งปีนเกลียวกันมาแล้วหลายครั้ง เท่าที่สรุปได้เป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ก็เช่น 

1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ครั้งนั้นเป็นการอภิปรายช่วง 3-4 วันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย อภิปรายลากยาว จน ส.ส.อนาคตใหม่ในขณะนั้น อภิปรายไม่ทัน เวลาของฝ่ายค้านหมด ทำให้ ส.ส.อนาคตใหม่ไม่ได้อภิปรายกันหลายคน สร้างความแค้นเคืองให้กับพรรคอนาคตใหม่  เป็นอย่างมาก

จากปัญหาในครั้งนั้น พรรคก้าวไกลมองว่าพรรคเพื่อไทย เล่นเกม เกี้ยเซี้ยกับรัฐบาล และมี ส.ส.งูเห่ากลุ่มหนึ่งพร้อมร่วมรัฐบาล จึงไม่ยอมเชื่อใจและให้ใจในการทำงานร่วมกัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการระมัดระวังอย่างเข้มข้นไม่ให้ถูกตลบหลัง และยังมีการกั๊กข้อมูลอภิปรายกันด้วย 

ทั้งหมดก็นำมาสู่การอภิปรายครั้งใหม่ที่จะยื่นญัตติช่วงกลางเดือนนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อใจ จึงยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีกี่คน 

2.การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครแข่งกันเอง ทำให้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ กรุงศรีวิไล สุทินเผือก เอาชนะไปแบบสบายๆ  แถมตอนที่หาเสียงแข่งกัน ยังปราศรัยโจมตีกันเองด้วย 

3.การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกล ไม่ให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน เพราะต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้งหมวด 1 หมวด 2 และยังมีการให้สัมภาษณ์ ตลอดจนเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะชิงมวลชนจากพรรคเพื่อไทยด้วย 

ท่าทีแบบนี้ทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านดูไม่มีพลัง และไม่มีเอกภาพ 

นอกจากนั้นยังมีการโหวตบางเรื่องเสียงแตกไปจากพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งในทางการเมืองระบบรัฐสภา มองกันว่าทำงานด้วยยาก และทำให้การทำงานไม่มีพลังมากพอ เหมือนกับที่คุณภูมิธรรมพูดว่า ควรแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง / เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล

ข่าว/โต๊ะข่าวการเมือง เนชั่นทีวี

logoline