svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อุทยานแห่งชาติฯ แจง เครือข่ายชนเผ่าฯ พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมจัดการ "มรดกโลก"

29 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงเครือข่ายชนเผ่าฯ (คชท.) ขึ้นทะเบียนผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เน้นพร้อมแก้ไขปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนร่วมจัดการพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตามที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ภายใต้หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสําคัญสูงสุดสําหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกําเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก แต่อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้ออกแถลงการณ์กรณีกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติว่า 

"เครือข่ายฯ มิอาจร่วมแสดงความยินดีต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวได้เนื่องจากไม่มีการขอฉันทามติและการยินยอมจากชุมชน สะท้อนว่ามีการละเลยและไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์"

อุทยานแห่งชาติฯ แจง เครือข่ายชนเผ่าฯ พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมจัดการ "มรดกโลก"

พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง ยกฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก 

นายธัญญาเนติธรรมกุล กล่าวว่า ตามแถลงการณ์ของ คชท. นั้น ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนกรณีที่ขอให้ยกฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่านั้น  จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่บริเวณที่เรียกว่า "ใจแผ่นดิน" ซึ่งอยู่ใกล้แดนไทย-เมียนมา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น กรมการปกครองยืนยันว่าไม่เคยจดทะเบียนบ้านใจแผ่นดินในสารบบของกรมการปกครองแต่อย่างใด และจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณใจแผ่นดินเกิดปัญหาชายแดนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนพบว่ามีกลุ่มคนเข้าไปตั้งเพิงพักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ใกล้กับฐานปฏิบัติการใจแผ่นดิน บริเวณบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง โดยไม่มีสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานความมั่นคงจึงได้เจรจาให้คนกลุ่มดังกล่าวลงมาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอย (ล่าง) 

ซึ่งอยู่ใกล้บ้านโป่งลึก ซึ่งมีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว เพื่อให้ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และมีโครงการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามสารบบของกรมการปกครองเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

อุทยานแห่งชาติฯ แจง เครือข่ายชนเผ่าฯ พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมจัดการ "มรดกโลก"

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายชาวบ้านมาอยู่อาศัยที่บ้านโป่งลึก - บางกลอย (ล่าง) ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2552 นั้น กลับมีกลุ่มคนบางส่วนย้อนกลับขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่บางกลอย (บน) และบุกรุก โค่นล้มต้นไม้ใหญ่เพื่อปลูกข้าวไร่ พริก รวมทั้งพบการลักลอบปลูกกัญชา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้บุกรุกตามกฎหมาย และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพธรรมชาติเดิม 

ทั้งนี้ กรณีการขอกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย

อุทยานแห่งชาติฯ แจง เครือข่ายชนเผ่าฯ พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมจัดการ "มรดกโลก"

นายธัญญา เนติธรรมกุล กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่เคยคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มหรือบุคคลที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยมีแนวทางในการดำเนินการเพิ่มสัดส่วนผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติและคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยให้มีผู้แทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อกำหนดแผนในการจัดทำโครงการศึกษาและการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อคนอยู่กับป่าอย่างสมดุล

อุทยานแห่งชาติฯ แจง เครือข่ายชนเผ่าฯ พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมจัดการ "มรดกโลก"

logoline