svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานอภัยโทษในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

27 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี

27 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษและปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

 

โดยในครั้งนี้ มีผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี รวมถึงผู้พิการ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และชราภาพ เป็นต้น และกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ได้แก่ ผู้ต้องราชทัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มแรก โดยจะได้การลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและฐานความผิด 

 

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้เพิ่มอาการของโรคที่เป็นเงื่อนไขสำหรับผู้เจ็บป่วยให้ครอบคลุมกับสภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยได้เพิ่มเติมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคสมองพิการ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต และโรคตับวายเรื้อรัง เป็นต้น ตลอดจนให้ผู้เจ็บป่วยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี  ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ด้วย

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานอภัยโทษในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานอภัยโทษในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ในส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ประกอบไปด้วย 

  1. ผู้กระทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม
  2. นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก 
  3. ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดรายใหญ่  ที่ได้รับโทษจำคุกภายหลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 (เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563)
  4.  นักโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

กรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชนองค์กรต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกคนที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องผ่านการอบรมโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ที่มีการอบรมในหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง

 

เพื่อให้มีความรู้ติดตัว สามารถนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้ ตลอดจนเป็นการเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวภายหลังพ้นโทษ

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการ หรือห้างร้านบริษัทต่าง ๆ เพื่อเปิดใจและให้โอกาสผู้พ้นโทษที่ได้รับพัฒนาทักษะฝีมือเข้าทำงาน และร่วมเป็นหนึ่งพลังในการผลักดันให้ผู้พ้นโทษหลุดพ้นจากวังวนการกระทำผิด เกิดการพัฒนาตนเอง มีความหวัง และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

logoline