svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ทางวิบาก “นายกฯนอกบัญชี” โยง “พี่โทนี่” ลุ้นกลับบ้าน..?

27 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระแส “นายกฯพระราชทาน” มาแรง และถูกพูดถึงอีกครั้ง ในจังหวะเวลาที่ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หรือ “โทนี่ วู้ดซั่ม” ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองถี่ยิบ พร้อมกับทิ้งปริศนาเรื่องการ “กลับบ้าน” หรือ “เดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ถูกดำเนินคดี”

เรื่องนี้ไม่ได้พูดและจับโยงกันเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่บางฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐบาล ก็เริ่มออกมาพูดแล้วเช่นกัน รวมถึง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสถาบันทิศทางไทยด้วย ที่ล่าสุดได้ออกมาโพสต์เกี่ยวกับ “ราชประชาสมาศัย” ซึ่งหมายถึงการร่วมคิดร่วมทำระหว่าง “ราช” หรือ “พระราชา” กับ “ประชา” หรือ “ประชาชน” เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ทำให้ประเด็น “นายกฯพระราชทาน” มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีกในช่วงนี้


จริงๆ แล้วเมื่อมีการพูดถึง “นายกฯพระราชทาน” มักจะมีการพูดถึงเมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐนตรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งบ้านเมืองมีความบอบช้ำมากจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน จนมีการชุมนุมใหญ่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
 

จากนั้น เมื่อนายกสัญญา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญมใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนรวมทางตรง เป็น ส.ส.ร.ในรูปแบบ “สภาสนามม้า” และมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ออกมา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า และมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง จากนั้นก็จัดการเลือกตั้ง นำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบเต็มใบ 


การมีนายกรัฐมนตรีด้วย “วิธีพิเศษ” เพื่อลงมาแก้ไขวิกฤติใหญ่ของบ้านเมืองซึ่งเคยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้มีการพูดถึง “นายกฯพระราชทาน” ในทุกๆ ครั้งที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ รวมถึงในยุคที่เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์? ชินวัตร แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอธิบายว่า ไม่มีช่องทางการตั้งนายกฯพระราชทานในรัฐธรรมนูญขณะนั้น ส่วนกรณีของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ทรงปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และพระองค์ไม่เคยทรงปฏิบัตินอกเหนือรัฐธรรมนูญ 

ล่าสุดเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองในยุคโควิด มีประชาชนแสดงความเบื่อหน่าย และมีบางกลุ่มออกมาชุมนุมขับไล่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีการพูดเรื่อง “นายกฯพระราชทาน” กันอีกครั้ง โดยเรียกรวมๆ กับคำว่า “นายกฯคนกลาง” หรือ “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง” โดยกลุ่มที่เรียกร้องในเรื่องนี้ ก็เช่น “กลุ่มประชาชนคนไทย”  นำโดย “ทนายนกเขา” 


หากพลิกดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ ฉบับปัจจุบัน จะพบว่าแม้ไม่มีช่องทางเกี่ยวกับ “นายกฯพระราชทาน” เอาไว้  แต่ได้กำหนดช่องทางใหม่สำหรับให้รัฐสภาเลือก “นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีพรรคการเมือง” แต่ต้องได้รับเสียบสนุบสนุนเป็น “เสียงข้างมากพิเศษ” จึงจะทำได้ 


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การโหวตเลือกนายกฯ เป็นการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ผู้ที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง จาก 750 เสียง (ส.ส.500 ส.ว.250) 


แต่ผู้ที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส.เกิน 25 คน ปัจจุบันนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองที่ยังเหลืออยู่ มีเพียง 5 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย  และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่นับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ และเป็นนายกฯอยู่ในปัจจุบัน


จะเห็นได้ว่า 5 คนที่เหลือ มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 สภา จนได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียง เพราะนายอนุทิน ก็สะบักสะบอมจากปัญหาโควิด ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปแล้ว นายชัชชาติ ก็ประกาศลงผู้ว่าฯกทม. ส่วนนายอภิสิทธิ์ ก็ลาออกจาก ส.ส. และมีบทบาททางการเมืองน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา 


จุดนี้ที่มีโอกาสจะต้องสรรหา “นายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมือง” แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องให้ประธานรัฐสภาเรียก “ประชุมรัฐสภา” แล้วขอมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงขึ้นไปจาก 700 เสียง เพื่อเลือก “นายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมือง” หากรัฐสภาอนุมัติ จึงจะกลับมาเลือกนายกฯ โดยอาศัยเสียงข้างมากปกติ คือเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 


จะเห็นได้ว่า การเลือก “นายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมือง” ที่ต้องอาศัยเสียงข้างมากพิเศษ คือการต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง  

สำหรับภารกิจของ “นายกฯนอกบัญชี” ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่า “นายกฯคนกลาง” เพราะจะขึ้นดำรงตำแหน่งได้ ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.นั้น ภารกิจสำคัญคือการนำพาบ้านเมืองฝ่าวิกฤติใหญ่ เพราะผู้นำที่ได้รับการยอมรับลักษณะนี้ ก็จะสามารถระดมความร่วมไม้ร่วมมือได้ อาจจะรวมไปถึงการแก้ไขกติกาประเทศให้มีความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์ฝ่ายใด 


เมื่อคลี่คลายวิกฤติใหญ่ และแก้ไขกติกาจบแล้วก็จัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับ ถอดสลักวิกฤติขัดแย้งเหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ส่วนประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นหรือแย่ลง ก็ขึ้นกับทุกฝ่ายจะช่วยกันประคับประคอง 


แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ “นายกฯลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขา ต้องลาออกเสียก่อน 


ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ใครที่จะมีอำนาจสั่งให้ “พลเอกประยุทธ์” ลาออกได้ และชี้นำให้ ส.ว.สนับสนุนแนวทาง “นายกฯนอกบัญชี” ที่ต้องอาศัยเสียงข้างมากแบบพิเศษได้ ท่ามกลางกระแสสังคมที่ขัดแย้งแตกแยกกันสุดขั้ว 


“ความพิเศษ” ตรงนี้นี่เอง ที่ถูกนำมาโยงกับการกลับบ้านของ “โทนี่ วู้ดซั่ม” เพราะ “ดีลพิเศษ” แบบนี้เท่านั้น จึงจะทำให้เกิดอะไรพิเศษๆ ขึ้นได้ในบ้านเมืองของเรา 


คำถามคือ แนวทางนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า หรือจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้ย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุด เรื่องนี้เป็นแค่การสร้างกระแสเพื่อฉวยประโยชน์ของใครบางคนเท่านั้นหรือไม่?? คำถามเหล่านี้ อีกไม่นานจะมีคำตอบ 

 

โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร

logoline