svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศบค.ขอผู้ติดเชื้ออย่าออกมารวมกลุ่มตามคำชวน ดึงจิตอาสาสภากาชาดฯช่วย

23 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ศบค.” ขอปชช.ติดเชื้ออย่าเชื่อคำเชิญชวนออกมารวมกลุ่ม หวั่นอาการทรุด เผย บ่าย 3 วันนี้ ระดมหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือแก้ปัญหาบุคลากรแพทย์-เตียง ไม่พอเพียง ชี้ ดึงจิตอาสาสภากาชาดไทย คลายปัญหาบุคลากรแพทย์ ย้ำไฟเซอร์บริจาคกระจาย 4 กลุ่ม พร้อมทำ mapping ผู้ป่วยกลุ่มสี 50 เขต

วันนี้ (23 ก.ค.) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 49 ของโลก เทียบกับ จำนวนประชากร 69 ล้านคน คิดเป็นตัวเลขทางระบาดวิทยา เทียบกับ 1,156 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน ถ้าเทียบกับประเทศมาเลเซียตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณ 2,500 ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 32 ล้านคน ประเทศอังกฤษมีการรายงานผู้ติดเชื้อรวม 25,000 ราย เทียบกับประชากร 68 ล้านคน รายงานเป็น 4,700 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยเฉพาะตัวเลขเสียชีวิต หากเทียบแต่ละประเทศ ประเทศไทย จะอยู่ที่อัตราการเสียชีวิตประมาณ 10 ต่อ 1 ล้าน ของประชากร

 

วันนี้ที่ประชุมได้สรุปย้ำเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ กระจายมุ่งเน้นไปที่ 1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นบูสเตอร์โดส หรือการกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน 2. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งหญิงมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 3. กลุ่มชาวต่างชาติ เน้นผู้สูงวัยและ 7 กลุ่มโรค 4. กลุ่มคนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต ซึ่งกลุ่มนี้สามารถติดต่อลงทะเบียน ฉีดวัคซีนที่ บางรัก  และโรงพยาบาลบำราศนราดูร โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังสำรวจจำนวน และจะนำเรียนในรายละเอียดให้ทราบต่อไป

 

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 14,575 ราย ติดเชื้อในประเทศ 13,490 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 ราย จากเรือนจำที่ต้องขัง 1,072 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 438,844 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 467,707 ราย หายป่วยแล้ว 7,775 ราย หายป่วยสะสม 292,726 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 114 คน เสียชีวิตสะสม 3,717 คนคิดเป็นร้อยละ 0.85% ผู้ป่วยรักษาอยู่ 143,744 ราย ในโรงพยาบาล 81,808 ราย โรงพยาบาลสนาม 61,936 ราย อาการหนัก 3,948 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 900 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 15,388,939 โดส เข็มที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 266,314 ราย สะสม 11,805,180 ราย เข็มที่สองเพิ่มขึ้น 37,929 ราย สะสม 3,583,759 ราย

 

ผู้ป่วยเสียชีวิต 114 ราย เพศชาย 61 ราย เพศหญิง 53 ราย ค่ากลางของอายุ 64 ปี (14-94 ปี) ชาวไทย 111 ราย เมียนมา 1 ราย กัมพูชา 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุ 14 ปี ผู้ป่วยติดเตียงโรคลมชัก ค่ากลางเวลาวัน ทราบผลติดเชื้อถึงเสียชีวิต 9 วัน นานสุด 38 วัน ทั้งนี้เสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย พบเชื้อหลังเสียชีวิตที่จังหวัดสระบุรี 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย เสียชีวิตที่ ER (ห้องฉุกเฉิน) และจากกู้ชีพนำส่ง ทั้งนี้เป็นกรุงเทพมหานคร 49 ราย ปทุมธานี 12 รายสมุทรปราการ 11 ราย สมุทรสาคร 6 ราย นครปฐม 1 ราย ยะลา 3 ราย นราธิวาส 1 ราย สงขลา 1 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย ตรัง 1 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย ระนอง 1 ราย ร้อยเอ็ด 3 ราย เลย 2 ราย ชัยภูมิ 2 ราย ขอนแก่น 1 รายนครราชสีมา 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย นครสวรรค์ 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 3 ราย อ่างทอง 2 ราย อุตรดิตถ์ 1 ราย เพชรบุรี 1 ราย สระบุรี 1 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย ตราด 1 รายและสระแก้ว 1 ราย

 

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,575 ราย ต่างประเทศ 13 ราย  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 6,085 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 771 ราย จังหวัดอื่น 67 จังหวัด 6,634 ราย เรือนจำรัฐที่ต้องขัง 1,072 ราย

ผู้ป่วยผู้ติดเชื้อในชุมชนรายวันกรุงเทพมหานครปริมณฑล และต่างจังหวัด วันที่ 1 มิถุนายน- 23 กรกฎาคม กรุงเทพมหานคร 23%  ปริมณฑล 22% ซึ่งไม่ถือว่าลดลงมาก ยังทรงตัว ลดลงเล็กน้อย ต่างจังหวัด ( 71 จังหวัด) 55% ทั้งนี้จากรายงานกรมควบคุมโรครายงานว่า หลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน  รายงานการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครปริมณฑล และเกิดการสัมผัสติดเชื้อในชุมชน ครอบครัว ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี สระบุรี ตาก ขอนแก่น อุตรดิตถ์ สระแก้วสุราษฎร์ธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์  ชัยภูมิ สุรินทร์พังงา กระบี่ สตูล (ลำปาง เป็นโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้าน 36 ราย) ทั้งนี้ศปม. ได้รายงานหลังจากมีการประกาศใช้มาตรการพบว่าประชาชน ยังเดินทางข้ามพื้นที่เกิน 100,000 คน

 

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ที่ศบค. ชุดเล็ก มีการพูดคุยลงรายละเอียดการดูแลผู้ติดเชื้อในส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 3,104 ราย ซึ่งยังไม่รวมการตรวจแบบ ATK อีก 2 พันกว่าราย ซึ่งมีทั้งในส่วนของทีม CCRT ลงชุมชน และเชิงรุกในชุมชน ซึ่ง1-2 วันนี้ กรุงเทพมหานครจะรวบรวมตัวเลขของการตรวจทั้งหมด เพื่อนำรายงานให้เห็นภาพรวม และมีการประกาศให้ประชาชนเข้าใจว่าในแต่ละเขตจะมีจุดที่สามารถให้ตรวจเชื้อทั้งในส่วนของการswab และตรวจแบบ ATK ทั้งนี้จากการที่กรุงเทพมหานครตรวจเชื้อเชิงรุก 100 ราย จะมีผลเป็นบวกสูงถึง 11% และหากเป็นผู้มีประวัติเป็นผู้สัมผัส ในจำนวนนี้จะมีผลยืนยันตามมาทีหลัง 15% หรือถ้าเป็นผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจหรือ PUI จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อได้ถึง 25% ซึ่งทางกรุงเทพมหานครและกรมควบคุมโรคเน้นย้ำสนับสนุนให้ทุกคนสำรวจตัวเอง และพยายามเข้าสู่ระบบการตรวจ เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่และเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด

 

ขณะที่รองอธิบดีกรมการแพทย์ รายงานการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเตียงเพิ่มอีก 868 ราย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ปิดเคสสะสมหรือการนำผู้ป่วยเข้าระบบสำเร็จ 121,457 ราย และมีรายงานผู้ป่วยระดับความรุนแรงสีแดง 40 ราย ซึ่งจะนำเข้าสู่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการมีผู้ป่วยกลับบ้าน ส่วนหนึ่งจะสามารถนำผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองสีแดงเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลให้ได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด และ 1-2 วันนี้ จะมีการนำเสนอ mapping ผู้ป่วยกลุ่ม สีเขียว สีเหลืองและสีแดง อยู่ในเขตไหนบ้างใน 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ผู้ป่วยจำนวนมากในส่วนของกรุงเทพมหานคร 70- 80% เป็นในกลุ่มสีเขียวอ่อน/เข้ม ทั้งนี้กรมการแพทย์เน้นย้ำว่า เมื่อเข้าตรวจและได้รับผลการยืนยันว่าบวก สามารถเข้าสู่ระบบ Home isolation ที่โรงพยาบาลที่ไปตรวจได้เลย หากไปหาไปตรวจที่แล็บเอกชน หรือ NGO ที่รับตรวจก็สามารถติดต่อหมายเลข บัตรทอง 1330 กด 14 และ ประกันสังคม 1506 กด 6 โดยเข้าสู่ระบบแล้วจะได้รับกล่องรอดตายจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีเครื่องวัดอุณหภูมิอุปกรณ์ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ

 

ในแง่การเบิกจ่ายโดยสปสช. แม้ว่าจะเป็นการแยกกักตัวที่บ้าน ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ รวมทั้งค่าเอ็กซเรย์ ค่ารถในกรณีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลค่าอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/ต่อวัน ค่าอุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน สำหรับคนไข้ที่ใช้ที่บ้าน 1,100 บาท

 

นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่การดูแลจะได้รับการประเมินพิจารณาจ่ายยาให้เร็วที่สุด และการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับการจ่ายยาที่บ้าน และกรณีที่มีข้อจำกัดในครอบครัวมีผู้สูงอายุ มีเด็กเล็ก หรือมีสภาพบ้านที่ไม่พร้อมต่อการแยกกักที่บ้าน การแยกกักในชุมชนหรือศูนย์พักคอยเป็นคำตอบที่จะช่วยได้ และมีคนเข้าระบบไปแล้ว 1,812 ราย วันนี้เปิด 22 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กำลังจะเปิดอีก 14 เขต และอีก 14 เขต กำลังจัดเตรียมสถานที่ โดยอยู่ในความดูแล 25 โรงพยาบาล

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนการอยู่บ้านนั้นทางกลุ่มการแพทย์ได้เน้นย้ำ ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักสุขภาพร่างกาย หากออกมาข้างนอก จะมีความไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะในกรณีที่มีโรคประจำตัวหรือน้ำหนักเกิน ที่สำคัญมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังชุมชนหรือบุคคลที่ท่านไปสัมผัสพูดคุยด้วย ดังนั้นขอประชาชนสื่อมวลชนกำกับติดตามมาตรการเหล่านี้ร่วมกัน ถือว่าเป็นการจับผิดเพราะการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ศบค. เรายินดีรับฟังรายงานข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ส่วนไหนมีข้อบกพร่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมรับข้อเสนอและอยากให้พวกเราร่วมมือกันช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษาห้เร็วที่สุด

 

แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า ที่ผ่านมามีข่าวการเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อนั้นออกจากบ้าน ไปรวมตัวกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าหากเป็นผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงอาจทำให้อาการทรุดลงได้ จึงอยากให้ผู้ป่วยนั้นอยู่บ้าน และติดต่อตามหมายเลขที่ระบุ ทั้งนี้จะพยายามพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุด

 

เมื่อถามว่า มีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยตั้งโรงพยาบาลสนามของหน่วยงานต่างๆ แต่บุคลากรทางการแพทย์นั้นขาดแคลน จะมีการบริหารจัดการอย่างไรนั้น แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ใน 1-2 วันนี้ จะมีการสรุปโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยในระดับสีเหลือง และสีแดง ขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัม อาจเป็นสถานที่รับผู้ป่วยสีเหลืองก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้จะมีการปรับรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลสนามสีเขียวขณะนี้มีบุคลากรและอุปกรณ์สามารถที่จะพัฒนายกระดับรับผู้ป่วยในกรณีสีเหลืองได้ จึงขอให้ติดตามข้อมูลที่จะนำเสนอให้ละเอียดชัดเจนเร็วๆ นี้

 

 แต่ในแง่ของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วง ก่อนหน้านี้มีการขอความร่วมมือบุคลากรจากต่างจังหวัดโยกมาช่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ตอนนี้หลายๆจังหวัดเองมีสถานการณ์ที่หนักขึ้น บางที่ระบบเตียงอยู่ที่ร้อยละ 70 แล้ว ในพื้นที่ภาคอีสาน ดังนั้นบุคลากรจะต้องโยกกลับไปดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่ในวันนี้ กรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งภาคประชาสังคม รวมถึงสภากาชาดไทย จะมีการประชุมกันในเวลา 15.00 น. ซึ่งจะมีการหารือกันอย่างครบถ้วน รวมทั้งการปรับเตียงในระดับสีเหลืองและสีแดง ทั้งนี้เมื่อมีสภากาชาดฯ เราจะเห็นสัดส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเป็นกลุ่มจิตอาสาที่จะสลับสับเปลี่ยนมา เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ทุ่มเทเต็มที่แล้ว ต้องขอฝากประชาชน สื่อมวลชน วันนี้สภาพจิตใจทุกคนย่ำแย่แต่ถ้าเรารวมกัน สามารถอาศัยพึ่งพาช่วยเหลือกัน เชื่อว่าเราจะสามารถผ่านวิกฤตไปได้

logoline