svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศบค.ชี้ยอดเกินหมื่น80 %กลุ่มสีเขียว วอนกลุ่มเปราะบางฉีดวัคซีนลดดับ

21 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. เผย ผู้ติดเชื้อจำนวนเป็นหมื่น 80% เป็นกลุ่มสีเขียว วอนผู้มีอายุเกิน 60 ปี 7 กลุ่มโรคและตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนเพื่อลดการเสียชีวิต แนะควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีน ชี้ ผู้ป่วยกทม.และปริมณฑล แพร่เชื้ออื้อในต่างจังหวัดเตียงเริ่มไม่พอ

วันนี้ (21 ก.ค.64) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่ 21 กรกฎาคม ว่า ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 13,002 ราย ติดเชื้อในประเทศ 11,922 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 31 ราย จากเรือนจำที่ต้องขัง 1,049 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 410,614 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 439,477 ราย หายป่วยแล้วเพิ่มขึ้น 8,248 ราย หายป่วยสะสม 277,030 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 108 คน เสียชีวิตสะสม 3,516 คน คิดเป็นร้อยละ 0.86% ผู้ป่วยรักษาอยู่ 131,411 ราย ในโรงพยาบาล 74,168 ราย โรงพยาบาลสนาม 57,243 ราย อาการหนัก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย

 

ผู้รับวัคซีนฉีดแล้ว 14,805,120 โดส เข็มที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 225,061 ราย สะสม 11,292,579 ราย เข็มที่สองเพิ่มขึ้น 32,815 ราย สะสม 3,512,441 ราย ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้ม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอให้ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนให้มากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ด้วย

 

ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิต 108 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 59 ราย ผู้ป่วยหญิง 49 ราย ค่ากลางอายุผู้ป่วย 66 ปี อายุระหว่าง 25-96 ปี เป็นผู้ป่วยชาวไทย 106 ราย จีน 1 ราย และอินเดีย 1 ราย เสียชีวิตที่วัด(CI) ผลพบเชื้อหลังเสียชีวิต 1 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิตที่บ้านขณะรอผลตรวจ 1 ราย ปริมณฑล และเสียชีวิตก่อนหรือขณะนำส่งโรงพยาบาล 2 ราย ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่ากลางการนอนรักษาตั้งแต่ทราบผลจนเสียชีวิต 10 วัน นานสุด 61 วัน แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 40 ราย สมุทรสาคร 13 ราย สงขลา 7 ราย ยะลา 6 ราย นครปฐม ปทุมธานี และปราจีนบุรี จังหวัดละ 4 ราย สมุทรปราการ และนครนายกจังหวัดละ 3 ราย นราธิวาส ปัตตานี ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และร้อยเอ็ด จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี สระแก้ว ขอนแก่น อุบลราชธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สุโขทัย และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย

 

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 11,922 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine  31 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุกโรงงานและในชุมชน 2,910 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 1,049 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,012 ราย

 

วันนี้มีการรายงานในจังหวัดมหาสารคามว่า พบผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อผลเป็นบวกและเดินทางกลับ จากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งมีการเดินทางจากอยุธยา ชลบุรี ทำให้เกิดการสัมผัสมีผู้ติดเชื้อร่วมบ้าน จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคลัสเตอร์ แคมป์ก่อสร้าง จากอำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ติดเชื้อกลับจากพื้นที่เสี่ยง จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการรายงานเดินทางกลับจาก ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา  ส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการรายงานผู้ติดเชื้อตลาดราชวัตร กรุงเทพมหานคร 

ขณะที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง หากท่านเป็นผู้ที่ตรวจหาเชื้อและรายงานผลเป็นบวก ขอให้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยไม่ต้องเคลื่อนย้าย ทั้งนี้การเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เตียงของต่างจังหวัดมีความตึงตัวพอสมควร ดังนั้นหากมีความต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อเข้ารับการรักษา จำเป็นต้องติดต่อโรงพยาบาลปลายทางไว้ก่อนเสมอ เพราะอาจจะได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากจังหวัดปลายทางอาจจะไม่สามารถดูแลได้ในตอนนี้  สิ่งที่สำคัญส่วนใหญ่กรมการแพทย์รายงานว่า ผู้ติดเชื้อ 70-80 % จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว ฉะนั้นการเดินทางที่ทำให้เกิดการเหนื่อยล้าจะทำให้อาการแย่ลง ซึ่งมีความพยายามทำให้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ได้รับการดูแลรักษา ทั้งแบบแยกกักที่บ้าน หรือแยกกักในชุมชน

 

ส่วนข้อมูลการจำแนกผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ตามระดับความรุนแรง จากที่เห็นผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนเป็นหมื่น หากจำแนกจะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียว ไม่มีอาการ ประมาณ 51.78 %หรือสีเขียวเข้ม มีอาการเพียงเล็กน้อย 26.30% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยอยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งสองกลุ่มนี้รวมกันสูงถึงเกือบ 80% ขณะที่กลุ่มสีเหลือง ประมาณ 18.10% และสีแดง 3.82% โดยมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำว่า เราพยายามจะสงวนเตียง ที่มีอยู่ในระดับโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลไอซียูสนาม เพื่อรองรับระดับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ดังนั้นการทำงานของกรุงเทพมหานครในตอนนี้ จะดูตามข้อมูล

 

นอกจากนี้รายงานของกรมวิทย์ฯ พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา เกิน 50% หลายจุด 5 เขตหลัก ประกอบด้วย จตุจักร บางรัก จอมทอง คลองเตยและเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ได้จัดทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชนหรือ CCRT ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนและให้เขาได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด โดยรายงานการทำงานวันที่ 15-20 กรกฎาคม สำนักอนามัยรายงานว่า ทีมดังกล่าวลงพื้นที่ 139 ชุมชน (ลักษณะการเดินเท้าเคาะประตูบ้าน) มีผู้ได้รับบริการทั้งสิ้น 4,583 คน ในจำนวนนี้ได้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ในส่วนวันที่ 20 กรกฎาคม 383 คน พบติดเชื้อ 37 คน ได้นำเข้าสู่ระบบแยกกักตัวที่บ้าน 31 คน เข้าสู่การแยกกักในชุมชน 3 คน และมีอาการอยู่ในระดับสีเหลือง 3 ราย จึงส่งต่อไปอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งนี้ยังได้มีการสอบสวนโรคต่อว่า มีคนสัมผัสใกล้ชิดอีกจำนวน 134 ราย จึงแนะนำแม้ผลไม่ได้เป็นบวกแต่ถือว่าเสี่ยงสูง จึงต้องกักตัวอยู่ที่บ้านด้วย นอกจากนี้ยังมีบริการฉีดวัคซีน โดยทีม CCRT 4,070 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 2,420 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 1,640 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ 10 ราย

 

ผอ.ศบค.(นายกฯ) ได้มีการติดตามรับฟังข่าวสารข้อมูล และเน้นย้ำว่าจะต้องไม่มีคนเสียชีวิตที่บ้านจากโรคโควิด-19 ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วยจะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด จึงพยายามตรวจ ATK ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและขยายจุดตรวจครอบคลุม ที่ก่อนหน้านี้เห็นภาพประชาชนมีความสงสัยว่าจะติดเชื้อต้องไปรอตรวจ หรือจากกรุงเทพฯใต้ ต้องย้ายไปกรุงเทพฯเหนือเพื่อรอคิวตรวจ การเพิ่มจุดตรวจจะลดปัญหาการเข้าถึง นอกจากโรงพยาบาลหลักของรัฐและเอกชน กรุงเทพมหานคร มีรถตรวจพระราชทาน คลินิก แล็บเอกชน หน่วยตรวจของกองทุนประกันสังคม และที่กำลังจะเปิดเพิ่มศูนย์บริการสาธารณะสุขของกรุงเทพมหานครอีก 69 จุด

 

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวอีกว่า รองอธิบดีกรมการแพทย์ แจ้งความคืบหน้าการจัดสรรเตียง ขณะนี้มีจำนวนจำกัดอย่างยิ่ง ที่ยังพอมีคือเตียงที่เปิดเพิ่ม จึงขอเน้นย้ำว่าการตอบโจทย์คือแยกกักที่บ้านและแยกกักในชุมชน โดย นโยบายของผอ.ศบค. จะต้องมีการจัดแยกกักในชุมชน อย่างน้อย 50 เขต จะต้องมีเขตละ 1 แห่ง บางเขต อาจจะทำได้ถึง 2 แห่ง จะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้ อย่างไรก็ตามรองอธิบดีกรมการแพทย์ได้เน้นย้ำ การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในระดับสีเขียวคือ อาจจะมีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่จากข้อมูลที่แสดงในตอนต้น ผู้ป่วยเกือบ 80% จะอยู่ในกลุ่มสีเขียวหรือสีเขียวเข้ม

 

ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์พักคอยรอส่งต่อในกรุงเทพมหานคร หรือการแยกกักที่บ้าน จะตอบโจทย์การดูแลประชาชนในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อการส่งต่อ 49 แห่งในพื้นที่ 47 เขต รับผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,365 เตียง ในส่วนของอาคารนิมิตรบุตรขณะนี้ รับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและพยามส่งต่อให้ปลอดภัย เพราะนอกจากจะเป็นศูนย์พักคอยยังเป็นศูนย์คัดแยกได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อประชาชนตรวจ ATK ซึ่งจะมีปริมาณมากขึ้นในช่วงนี้ จากนี้ยังมีการหารือในที่ประชุมว่าอาจจะมีการเพิ่มศูนย์ในลักษณะดังกล่าว คือ รอการส่งต่อ แรกรับผู้ป่วย คัดแยก ตามกลุ่มสี

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงการให้วัคซีน ซึ่งกรมควบคุมโรคมีข้อสรุปว่า ให้เพิ่มกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ในการฉีดวัคซีนด้วย โดยมีข้อจำกัดว่าต้องมีการตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ เพราะช่วงก่อน 12 สัปดาห์ยังไม่อนุญาตให้ฉีด และมีคำแนะนำหากผู้หญิงที่จะเข้ารับบริการฉีดวัคซีน มีประวัติไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์ ขอให้ตรวจครรภ์ก่อนรับการฉีดวัคซีน หน้าที่การให้วัคซีนกับคนต่างชาติหลังจากนี้  ผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย เป็นคู่สมรสของคนไทยหรือผู้ที่ทำอาชีพอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนักในประเทศไทยลำดับถัดไป มีโอกาสจะได้ลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน เบื้องต้นจะเป็นที่ SCG จึงต้องขอให้ติดตามรายละเอียดต่อไป ส่วนของนักเรียนไทยที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ประชุมได้หารือหากมีข้อสรุปอย่างไรจะนำเรียนในรายละเอียดต่อไป ทำอะไรก็ตามอยากเน้นย้ำในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้เปิดลงทะเบียน “ไทยร่วมใจ” ในเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้สูงอายุลงทะเบียน เพื่อรับการฉีดวัคซีนผู้ลงทะเบียนค่อนข้างน้อย จึงขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้นำผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

logoline