วันนี้ (25 มกราคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ร่วมประชุมชี้แจงการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับประธานคณะทำงาน 6 คณะ โดยมีผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ 1,000 แห่ง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
(ภาพประกอบเนื้อหา)
นายอนุทินกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหาวัคซีนสำหรับให้บริการแก่ประชาชนคนไทยทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตามความสมัครใจ ยึดหลักโปร่งใส วัคซีนมีความปลอดภัย มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ราคาเหมาะสม และสะดวกในการขนส่งในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อน เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับประเทศไทย
วันนี้จึงได้มีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงาน 6 คณะ ภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนรองรับการฉีดวัคซีนประชาชนทุกคนซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยฉีดคนละ 2 เข็ม ดำเนินการในช่วงแรกกำหนดสถานที่ฉีดในโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่จึงเฝ้าระวังสังเกตอาการ 30 นาที หากมีผลข้างเคียงจะช่วยเหลือได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ Line Official Account ในชื่อว่า "หมอพร้อม" เป็นระบบรองรับการให้บริการวัคซีน ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและหน่วยบริการ ในการลงทะเบียนผู้รับวัคซีน ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ติดตามประเมินผลการให้วัคซีนจากหน่วยบริการทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม และเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชน โดยติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันที่ 1, 7, 30 และ 60 โดยเบื้องต้นจะมีการทดสอบการส่งข้อมูลและประเมินผลภายในวันที่ 27 มกราคม 2564 และจะเปิดตัวหมอพร้อม ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับประชาชน จะเปิดใช้งานในช่วงเดือนเมษายน 2564
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 วัคซีนยังมีปริมาณจำกัด จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย โดยตั้งเป้าหมายจะเริ่มฉีดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564
ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2564 เมื่อจัดหาวัคซีนได้มากขึ้น จะขยายพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายจากระยะที่ 1 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
ระยะที่ 3 ช่วงเดือน มกราคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อมีวัคซีนอย่างเพียงพอ จะฉีดให้กับประชาชนทั่วไปทุกคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีน โดยสำรวจกลุ่มเป้าหมายและความต้องการวัคซีน จัดทำแผนปฏิบัติการ ชี้แจงอบรมบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน และอสม. สื่อสาร ชี้แจง แนะนำประชาชนรวมถึงผู้นำชุมชน จัดระบบบริการ ระบบห่วงโซ่ความเย็น และระบบเฝ้าระวังติดตามอาการไม่พึงประสงค์ และซักซ้อมแผน ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มให้บริการ
ทั้งนี้ คณะทำงาน 6 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 12 ท่าน 2.คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารฯ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย 3.คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรมและกำกับติดตามผล กำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีน และแผนฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการวัคซีน เป็นต้น 4.คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จัดทำแนวทางการจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน มีระบบติดตามข้อมูลและตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
5.คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนโควิด 19 วางแผนระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีน พัฒนาระบบลงทะเบียนการให้บริการวัคซีน เพื่อให้หน่วยบริการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ และเก็บรวบรวม วิเคราะห์ประมวลผลการให้บริการวัคซีน และ 6.คณะทำงานด้านการบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งระดับโลกและในประเทศ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและให้บริการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ