svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ "ลุ่มน้ำมูล"

15 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช. เดินหน้าโครงการจัดทำผังน้ำ "ลุ่มน้ำมูล" เพื่อกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำ หวังใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ คาดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564

วันนี้ (15 กันยายน 2563) ที่ห้องรายาวดี 1 โรงแรมรายาแกรนด์ จังหวัดนครราชสีมา นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำมูล เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดทำผังน้ำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ และแนวคิดแนวทางทางในการจัดทำผังน้ำ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ สภาพปัญหาและข้อวิตกกังวลต่าง ๆจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. และผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่



สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ \"ลุ่มน้ำมูล\"





นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาน้ำท่วมหลาก และภัยแล้งเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากร การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น  ทั้งเพื่อการอยู่อาศัย การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ส่งผลให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เกิดการรุกพื้นที่ลำน้ำในลักษณะที่ไม่เหมาะสมทั้งของภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดปัญหา น้ำท่วมและอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทางน้ำ และปัญหามีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 



สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ \"ลุ่มน้ำมูล\"






สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงจัดให้มีโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำมูลขึ้น โดยจะทำการศึกษาครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น  และร้อยเอ็ด เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และเพื่อให้การดำเนินการจัดทำผังน้ำเป็นไปตามที่กำหนด จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบัน  ที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำมูล เพื่อกำหนดกรอบแนวทางวิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ลุ่มน้ำมูล และกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำ และกำหนดแผนที่ผังน้ำที่มีมาตรฐานและใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน



สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ \"ลุ่มน้ำมูล\"





สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการจะดำเนินการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งจะทำการศึกษารวบรวมข้อมูลและทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของผังน้ำ สาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง ข้อมูลน้ำท่วมและน้ำแล้ง พื้นที่น้ำท่วมและประสบปัญหาภัยแล้ง ความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้งที่ผ่านมา พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งในอดีตและปัจจุบัน และรวบรวมข้อมูลทะเบียนแหล่งน้ำ รวบรวมแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก แผนบริหารจัดการอุทกภัย และระบบป้องกันน้ำท่วม จากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการศึกษาอย่างละเอียดรอบด้าน ทั้งนี้ในการศึกษาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีระยะเวลาการศึกษาโครงการ 480 วัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2563 และจะแล้วเสร็จภายใน 20 กันยายน 2564 



สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ \"ลุ่มน้ำมูล\"





เมื่อการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำมูล แล้วเสร็จและประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่กีดขวางระบบทางน้ำ และเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่และทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางน้ำ และเพิ่มความมั่นคงในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและน้ำให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างยั่งยืน



สทนช.เดินหน้าทำผังน้ำ \"ลุ่มน้ำมูล\"






"ทั้งนี้ สทนช. คาดว่า โครงการจะทำการศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 โดยผลการศึกษาจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล โดยจะเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่กีดขวางระบบทางน้ำ และเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่และทรัพย์สินของประชาชนลง" นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. กล่าว.

logoline